วันจันทร์, เมษายน 29, 2024
Latest:
ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาพระนครศรีอยุธยา
ข่าวประชาสัมพันธ์ความรู้ทั่วไปบทความสุขภาพ

วัคซีน ความหวังของการอยู่รอด

(นางสาวปรางค์แก้ว  แหลมสุข)
นักวิชาการวิทยาศาสตร์ศึกษา

          วัคซีน (Vaccine) หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า วัคซีนออกฤทธิ์ยังไงและกลไกลการทำงานของวัคซีน เป็นอย่างไร ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับวัคซีนแตกต่างกันออกไป เช่น การฉีดวัคซีนเป็นการฉีดยาป้องกันโรคเพราะเมื่อร่างกายของเราได้รับเข้าไปแล้วทำให้สามารถป้องกันไม่ให้ร่างกายเกิดโรค วัคซีน คือ ตัวยาที่ถูกผลิตขึ้นมาจากสิ่งมีชีวิตหรือแอนติเจนที่ถูกผลิตขึ้นมาจากเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่ถูกทำให้ไม่สามารถก่อโรคได้แต่ยังสามารถกระตุ้นให้ร่างกายของเราสร้างแอนติบอดีหรือภูมิคุ้มกันได้ เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายของเราเกิดโรคนั้นเอง

          ในชีวิตจริง เราทุกคนจะพบเจอกับการฉีดวัคซีนตั้งแต่เด็กๆ โดยวัคซีนที่เราได้รับแต่ละชนิดก็จะมีหลักการทำงานของวัคซีนที่แตกต่างกันไป และส่วนใหญ่วัคซีนที่เราต้องฉีดตั้งแต่เด็กจนเป็นผู้ใหญ่ถูกผลิตมา

จากเชื้อโรค 3 กลุ่ม หลักๆ ได้แก่

          1. วัคซีนเชื้อตาย (killed vaccine) วัคซีนตัวนี้จะใช้เชื้อโรคที่ตายแล้วทั้งตัวหรือเฉพาะองค์ประกอบบางส่วนของเชื้อโรคหรือจากโปรตีนส่วนประกอบของเชื้อโรคที่ผลิตมาใหม่ โดยอาศัยพันธุศาสตร์ วัคซีน ในกลุ่มนี้ได้แก่ วัคซีนไอกรนชนิดทั้งเซลล์ วัคซีนตับอักเสบเอ วัคซีนอหิวาตกโรคชนิดฉีด วัคซีนพิษสุนัขบ้า วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีชนิดเชื้อตาย วัคซีนโปลิโอชนิดฉีด วัคซีนตับอักเสบบี วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนฮิบ วัคซีนไอกรนชนิดไร้เซลล์ วัคซีนไทฟอยด์ชนิดฉีด และวัคซีนนิวโมคอคคัส เมื่อเราได้รับวัคซีนเชื้อตายไปแล้วประมาณ 3-4 ชั่วโมง อาจจะทำให้เรามีไข้ร่วมด้วย
          2. วัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (live attenuated vaccine) เป็นวัคซีนที่ผลิตขึ้นโดยใช้เชื้อโรคที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ลงจนไม่สามารถก่อเกิดโรคได้ แต่เพียงพอที่จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย ได้แก่ วัคซีนโปลิโอชนิดกิน
วัคซีนรวมหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม วัคซีนอีสุกอีใส วัคซีนวัณโรค วัคซีนไทฟอยด์ชนิดรับประทาน วัคซีนโรต้า วัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดพ่นจมูก และเมื่อให้เข้าไปในร่างกายจะไม่แสดงปฏิกิริยาทันที

          3.วัคซีนประเภทท็อกซอยด์ (toxoid) เป็นวัคซีนที่ผลิตโดยการนำพิษของจุลินทรีย์หรือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กไม่สามารถมองด้วยตาเปล่าที่เป็นส่วนสำคัญในการก่อโรคมาทำให้หมดฤทธิ์แต่ยังสามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันโรคได้ เช่น วัคซีนคอตีบ และวัคซีนบาดทะยัก เมื่อฉีดเข้าไปแล้วส่วนใหญ่จะมีไข้หรือปฏิกิริยาเฉพาะที่เล็กน้อย

        การฉีดวัคซีนเป็นการป้องกันและช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคร้ายกับเด็กและผู้ใหญ่ โดยในวัยเด็กการฉีดวัคซีนจะเป็นการฉีดเพื่อให้รู้จักเชื้อนั้นและสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อนั้นขึ้นมา เมื่อเกิดการติดเชื้อ ร่างกายก็จะส่งภูมิคุ้มกันมายับยั้งเชื้อนั้นได้ทันท่วงที ส่วนในผู้ใหญ่อาจจะเคยได้รับเชื้อนั้นแล้ว แต่ภูมิคุ้นกันในร่างกายอาจจะลดลงเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นหรืออาจจะเป็นเพราะได้รับเชื้อชนิดใหม่ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันเดิมของเราไม่รู้จักเชื้อนั้น จึงต้องมีการกระตุ้นด้วยการฉีดวัคซีน ดังนั้นการฉีดวัคซีนจึงมีความสำคัญมากกับพวกเราทั้งวัยเด็กและผู้ใหญ่

แหล่งที่มา : https://www.nsm.or.th/

views 0

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *