วันอาทิตย์, เมษายน 28, 2024
Latest:
ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาพระนครศรีอยุธยา
ความรู้ทั่วไปธรรมชาติบทความภาวะโลกร้อน

RoHS มาตรฐานเพื่อสิ่งแวดล้อม

นางสาวปรางค์แก้ว แหลมสุข
(นักวิชาการวิทยาศาสตร์ศึกษา)

         สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่มนุษย์ต้องช่วยกันรักษาให้มีผลกระทบน้อยที่สุดจากการดำเนินชีวิต ปัจจุบัน การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศต่าง ๆ ที่เป็นฐานการผลิตระดับโลกนั้น มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี แต่พอพูดถึงการทำลาย ดูแล ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ หรือการกลับนำมาใช้ของอุปกรณ์เหล่านั้น ประเทศผู้ผลิตและประเทศที่นำเข้าอุปกรณ์ หรือผลิตภัณฑ์ มักประสบปัญหาการบริหารจัดการและการกำจัดขยะที่เป็นเศษซากทิ้งไว้ ซึ่งส่งผลกระทบ ต่อโลกในอนาคตอย่างแน่นอน

         ทำให้ประเทศต่าง ๆ ออกมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้โดยออกกฎ ระเบียบ และข้อบังคับให้ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นำส่วนประกอบหรือวัตถุสำหรับใช้ในอุปกรณ์ให้ไม่เกินค่ามาตรฐานที่ตั้งไว้ เพื่อป้องกันการกระจายหรือปนเปื้อนแก่ผู้ใช้งาน

มาตรฐาน RoHS คืออะไร

          RoHS ย่อมาจาก Restriction oHazardous Substances จุดกำเนิดทำให้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมด โดยแรกเริ่ม RoHS เกิดขึ้นในสหภาพยุโรป
ในปี ค.ศ. 2002 (พ.ศ. 2545) โดยมีข้อจำกัดปริมาณในการใช้วัสดุอันตราย 6 ชนิด ที่พบในผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้ทั้งหมดในตลาดสหภาพยุโรป โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2549
ซึ่งจะต้องผ่านข้อกำหนด RoHS โดยสังเกตเวลาเลือกดูสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ หรือใน เอกสารที่รวบรวมข้อมูล คุณสมบัติต่าง ๆ ของอุปกรณ์ชิ้นนั้น (Datasheet) ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ จะเห็นสัญลักษณ์วงกลม
ที่มีตัวอักษร “Pb” แล้วคาดด้วยเส้นเฉียง หรือมีเขียนคำว่า “RoHS Compliant” หรือจะเขียนว่า “Pb-Free”, “Green” (สัญลักษณ์ของแต่ละยี่ห้อจะแตกต่างกัน เนื่องจากไม่มีสัญลักษณ์ที่เป็นทางการ)
ซึ่งสามารถเข้าศึกษาข้อมูลมาตรฐานล่าสุด

วัตถุประสงค์

       – เพื่อสามารถจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ได้ปลอดภัยยิ่งขึ้น
       – เพื่อลดต้นทุนการจัดการกำจัดซาก และรีไซเคิลวัสดุได้ง่ายขึ้น
       – เพื่อได้วัสดุรีไซเคิลที่มีพิษน้อยลง สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายยิ่งขึ้น
       – เพื่อลดอุปสรรคทางการค้า

วัสดุที่ถูกจำกัดปริมาณภายใต้มาตรฐาน RoHS แรกเริ่มมีอะไรบ้าง

  1. ตะกั่ว (lead) : ส่วนใหญ่พบใน แบตเตอรี่ ผสมในพีวีซี แผ่นวงจรพิมพ์ ไอซี และส่วนผสมในสี
  2. ปรอท (mercury) : เครื่องมือวัด สวิตช์ หลอดไฟ ตัวปรับอุณหภูมิ รีเลย์ และส่วนผสมในพลาสติก(กันเชื้อรา)
  3. แคดเมียม (cadmium) : พบในแบตเตอรี่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หน้าสัมผัส IR detector จอภาพ(รุ่นเก่า) ส่วนผสมในพีวีซี และส่วนผสมในสี
  4. โครเมียม-6 (hexavalent chromium-VI) : เคลือบป้องกันการกัดกร่อน ส่วนผสมในสีแบตเตอรี่และในอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน
  5. โพลิโบรมิเนทไบฟินิล (polybrominated biphenyls) : ซึ่งไม่ค่อยพบในปัจจุบัน และเลิกผลิตตั้งแต่ พ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000)
  6. โพลิโบรมิเนทไดฟินิลอีเทอร์ (polybrominated diphenyl ethers) : ส่วนผสมในพลาสติกเพื่อป้องกันการลุกเป็นไฟ พบในแผ่นวงจรพิมพ์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สายไฟ และขั้วสายไฟ

สินค้าที่อยู่ในข้อตกกำหนดของมาตรฐาน RoHS

  1. เครื่องใช้ในครัวเรื่อนขนาดใหญ่ เช่น ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า
  2. เครื่องใช้ในครัวเรือนขนาดเล็ก เช่น เครื่องดูดฝุ่น เครื่องปิ้่งขนมปัง
  3. อุปกรณ์ไอที และโทรคมนาคม เช่น คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง
  4. อุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น วิทยุ โทรทัศน์ เครื่องเสียง
  5. อุปกรณ์ให้แสงสว่่าง
  6. เครื่องมือไฟฟ้า เช่น สว่านไฟฟ้า จักรเย็บผ้า
  7. ของเด็กเล่น เช่น วิดีโอเกม รถไฟฟ้า
  8. เครื่องมือแพทย์
  9. เครื่องมือวัดหรือควบคุม เช่น ตัวปรับอุณหภูมิ เครื่องจับควัน
  10. เครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ

มาตรฐาน RoHS มีผลกับใครบ้าง

          ในประเทศอื่น ๆ เช่น สหรัฐอมริกา จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ นอร์เวย์ อินเดีย ยูเครน สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตุรกี รัสเซีย และบราซิล เริ่มมีข้อกำหนดในลักษณะนี้เช่นกัน ดังนั้น ถ้าผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์
ที่เข้าข่ายดังกล่าว ก็ควรจะเริ่มศึกษาและทำความเข้าใจกับข้อกำหนดนี้ให้มากขึ้น เพราะในอนาคต ข้อกำหนดนี้ก็คงจะแผ่ขยายครอบคลุมไปทั่วโลก

ที่มา : https://www.iei.or.th/media/www/file/

views 1

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *