วันพุธ, ตุลาคม 9, 2024
ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาพระนครศรีอยุธยา
ความรู้ทั่วไปบทความสมุนไพรสุขภาพอาหาร

วิตามินในการช่วยภูมิคุ้มกันสู้โรค

นางสาวปรางค์แก้ว  แหลมสุข
(นักวิชาการวิทยาศาสตร์ศึกษา)

          ความตื่นตัวต่อการดูแลสุขภาพ กลายเป็นชีวิตปกติในรูปแบบใหม่ของใครหลายคน ไม่เพียงเฉพาะเหตุผลของสถานการณ์การระบาดของโรคอุบัติใหม่ แต่การดูแลสุขภาพด้วยการรับประทานอาหารที่ดี และสนับสนุนการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับโรคภัยต่าง ๆ ได้ อาหารแต่ละประเภทมีสารอาหารที่สำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกันที่แตกต่างกัน สารอาหารดังต่อไปนี้ช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

วิตามินเอ

          วิตามินเอ (vitamin A) เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน มีบทบาทสำคัญต่อการมองเห็นในฐานะที่เป็นหนึ่งในส่วนประกอบของโรดอพซิน (rhodopsin) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ดูดซับแสงในตัวรับของจอประสาทตา สนับสนุนการเจริญเติบโตของเซลล์ และช่วยบำรุงรักษาเซลล์ชนิดเยื่อบุเซลล์ของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายเช่น ผิวหนัง ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร เป็นต้น

          วิตามินเอได้รับการขนานนามว่าเป็น วิตามินต่อต้านการติดเชื้อ “the anti-infective vitamin” โดยวิตามินเอความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาและการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ในบทบาทของการควบคุมการตอบสนองของเซลล์บี (B-cell) ซึ่งเป็นเซลล์ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกันที่มีประสิทธิภาพ

          วิตามินเอพบได้ในตับ น้ำมันตับปลา ไข่แดง นมและผลิตภัณฑ์จากนม นอกจากนี้ ยังพบได้ในผักใบเขียวและผักสีเหลืองและสีส้มที่มีเบต้าแคโรทีน ซึ่งร่างกายสามารถเปลี่ยนเป็นวิตามินเอ เช่น บร็อคโคลี่ ฟักทอง และแครอท

วิตามินบี

          วิตามินบีโดยเฉพาะอย่างยิ่ง B6, B9 และ B12 เป็นหน่วยสนับสนุนการตอบสนองแรกของร่างกายเมื่อได้รับเชื้อก่อโรค โดยวิตามินบีจะช่วยสนับสนุนการผลิตและกิจกรรมของเซลล์นักฆ่า (natural killer cell) ของร่างกาย โดยเซลล์นักฆ่าจะทำงานโดยการที่ทำให้เซลล์ที่ติดเชื้อเปลี่ยนแปลงรูปร่างและเกิดการแตกหักของสายดีเอ็นเอ” ซึ่งเป็นกระบวนการที่เรียกว่า apoptosis

         แหล่งสารอาหารของวิตามิบี 6 พบได้ในธัญพืชพืชตระกูลถั่ว ผักใบเขียว ผลไม้ ถั่ว ปลา ไก่และเนื้อสัตว์ สำหรับวิตามินบี 9 (หรือโฟเลต) จะพบมากในผักใบเขียว พืชตระกูลถั่ว ถั่วและเมล็ดพืช  และวิตามินบี 12 (cyanocobalamin) จะพบได้ในผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น ไข่ เนื้อสัตว์ นมและในนมถั่วเหลืองเสริม

วิตามินซีและอี

          เมื่อร่างกายของคุณต่อสู้กับการติดเชื้อ จะเกิดภาวะเครียดที่เกิดจากออกซิเดชัน (Oxidation stress) นำไปสู่การผลิตสารอนุมูลอิสระ (free radicals) ที่สามารถทำลายเนื้อเยื่อและก่อให้เกิดการอักเสบที่รุนแรงได้ ซึ่งวิตามินซีและวิตามินอีช่วยปกป้องเซลล์จากภาวะดังกล่าว

          วิตามินซียังช่วยสนับสนุนการผลิตเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน ได้แก่ เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล (neutrophils) เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (lymphocytes) และเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดฟาโกไซต์ (phagocytes) โดยแหล่งของวิตามินซีที่ดี ได้แก่ ส้ม มะนาว เบอร์รี่  กีวี บรอกโคลี มะเขือเทศและพริก
ในขณะที่สามารถพบวิตามินอีได้ในถั่ว ผักใบเขียว และน้ำมันพืช

วิตามินดี

          นอกเหนือจากบทบาทของการเสริมสร้างแคลเซียมและสภาวะสมดุลของกระดูก วิตามินดียังมีส่วนช่วยสนับสนุนการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน โดยมีการค้นพบ ตัวรับวิตามินดี (Vitamin D Receptor) บนเซลล์ T (T cell) เซลล์บี  (B cell) และ Antigen presenting cell ซึ่งเป็นเซลล์ภูมิคุ้มกันที่หน้าที่ทำลายเชื้อก่อโรคแม้ว่ารังสีอัลตราไวโอเลต (UV) จากดวงอาทิตย์จะช่วยผลิตวิตามินดีในผิวหนังซึ่งเป็นแหล่งวิตามินดีธรรมชาติ
ที่ดีที่สุด แต่แหล่งอาหารจำพวกไข่ ปลา และนมบางชนิด อาจช่วยเสริมด้วยวิตามินดีได้ด้วย

เหล็ก, สังกะสี, ซีลีเนียม

          ร่างกายต้องการเหล็กสังกะสีและซีลีเนียม สำหรับการสนับสนุนการเจริญเติบโตของเซลล์ภูมิคุ้มกันในรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยธาตุเหล็กช่วยฆ่าเชื้อโรคโดยการเพิ่มจำนวนของสารอนุมูลอิสระที่สามารถทำลายเชื้อได้ นอกจากนี้ยังควบคุมปฏิกิริยาของเอนไซม์ที่จำเป็นสำหรับเซลล์ภูมิคุ้มกันในการรับรู้และกำหนดเป้าหมายเชื้อโรค ในขณะที่สังกะสีช่วยรักษาความสมบูรณ์ของผิวหนังและเยื่อเมือก โดยสังกะสีและซีลีเนียมยังทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระช่วยดูดซับความเสียหายที่เกิดจากภาวะความเครียดออกซิเดชัน โดยแหล่งอาหารที่พบธาตุเหล็กได้แก่ เนื้อไก่ ปลา พืชตระกูลถั่ว และธัญพืช พบสังกะสีได้ในหอยนางรมและอาหารทะเล ถั่วแห้ง (โดยเฉพาะถั่วบราซิล) ในขณะที่ซีเรียล เนื้อสัตว์ และเห็ดเป็นแหล่งอาหารที่ดีของซีลีเนียม

          แม้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตปกติให้กลายเป็นมาตรฐานใหม่ มีการปฏิบัติตน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในรูปแบบต่างๆ ให้เข้ากับสถานการณ์ที่ช่วยป้องกันโรค แต่ความพอดีที่เพียงพอเป็นหนึ่งในสิ่งที่ควรคำนึงถึงต่อการดำรงชีวิตในปัจจุบันด้วยเช่นกัน

ที่มา : https://www.scimath.org

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *