วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาพระนครศรีอยุธยา
ความรู้ทั่วไปบทความสุขภาพ

รังแค

(นายอนุกูล   เมฆสุทัศน์)
นักวิชาการวิทยาศาสตร์ศึกษา

รังแคคืออะไร
           โดยทั่วไปแล้ว หนังศีรษะของคนเราจะประกอบไปด้วยเซลล์ผิวหนังเล็กๆ (จริงๆ แล้ว จะเป็นผิวหรือหนังส่วนไหน ก็ต้องประกอบไปด้วยเซลล์เล็กๆ) ซึ่งสำหรับคนปกติทั่วไปแล้ว เซลล์เหล่านี้ก็จะต้องตายลงในอัตราหนึ่ง เมื่อเราสระผม เจ้าเซลล์เหล่านี้ก็จะหลุดร่วงออกมาตามปกติ ซึ่งมีจำนวนไม่มากและมีอัตราการผลัดเซลล์ที่ราวๆ เดือนละหนึ่งครั้ง แต่ในบางคน จำนวนการตายของเซลล์นี้จะสูงกว่าราวสองเท่า และมีช่วงชีวิตของเซลล์เพียง 2-7 วันเท่านั้น ซึ่งอาจมีอาการผื่นแดง หรือการอักเสบของหนังศีรษะร่วมด้วยก็ได้ เซลล์ที่ผลัดผิวตายออกมาในจำนวนมากๆ นี้ ก็จะตกๆ หล่นๆ ตามหนังศีรษะบ้าง ผิวบ้าง และสุดท้ายก็ตามเสื้อผ้าของเรา อากาศที่เย็นเกินไปสามารถทำให้ความรุนแรงมากขึ้นได้ จะอย่างไรก็ตาม
การมีรังแคทำให้ขาดความสวยงาม เสียบุคลิกภาพ และทำให้ขาดความมั่นใจ สาเหตุของรังแคโดยปกติแล้ว จะมีสภาพการณ์ที่พอเหมาะที่จะทำให้เกิดรังแคได้ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็เป็นหรอก (อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านสั่งสอนไว้ว่า อันทุกอย่างนั้นต้องมีเหตุ จึงมีผล ไงล่ะคะ) เรื่องของรังแคก็เช่นเดียวกัน จากการศึกษา
ก็พบว่าจะมีองค์ประกอบที่ทำให้เกิดรังแคได้คือ
1) ไขมัน/น้ำมันจากผิวของเรา
2) ผลพลอยได้ที่เกิดจากการเผาผลาญหรือย่อยอาหารของเชื้อโรคเชื้อราเล็กๆ (Malassezia Yeasts)
3) ความว่องไวต่อสิ่งผิดปกติของแต่ละคน (คล้ายๆ อาการไวต่อสิ่งแปลกปลอมที่ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้)
การเกิดรังแคนั้นมีกระบวนการนะคะ โดยหลักๆ คือเกิดจากการที่เชื้อราที่เรียกว่ามาลาสซีเซีย โกลโบซา (Malassezia globosa) จะทำการย่อยไตรกลีเซอไรด์ที่มีอยู่ในไขผิวหนัง (Sebum) ทำให้เกิดผลพลอยได้ (หรือพลอยเสียกันแน่หนอ) คือกรดโอเลอิก (OA, Oleic Acid) คราวนี้ เพื่อนๆ ก็คงจะเดาต่อได้ว่าการที่มีเจ้ากรดนี้อยู่บนชั้นผิวหนังของเรา โดยเฉพาะหนังศีรษะนั้นย่อมไม่ดีแน่ ก็จริงดังว่าค่ะเพราะกรดนี้จะทำให้ชั้นผิวหนังด้านบนสุดอักเสบ และทำให้ผิวชั้นนอกสุดนั้นแตกออก (มาเป็นขุยรังแคไงคะ) แต่อย่างไรก็ตาม รังแคอาจจะมีสาเหตุมาจากการแพ้สารเคมีบางอย่าง เช่นเจลหรือสเปรย์ใส่ผม หรือแชมพูบางชนิด ดังนั้นสาวๆ คงต้องสังเกตดูด้วยว่า เราเริ่มมีรังแค (สมมติว่ามีนะคะ ถ้าไม่มีก็ย่อมดีกว่า) เมื่อเราเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์ที่ใช้อะไรบ้าง การรักษาหรือกำจัดรังแคเมื่อเราทราบสาเหตุของการเกิดรังแคแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ไม่ยากเกินไปนักที่จะพยายามกำจัด หรืออย่างน้อย ก็ทำให้ความรุนแรงลดลงไปได้ ปัจจุบันมีแชมพูหลายชนิดที่มีส่วนผสมที่ช่วยควบคุมรังแค กระบวนการเกิดของรังแคนั้นเกี่ยวข้องกับการที่เซลล์คีราไทโนไซต์ (Keratinocytes) มีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็วทำให้เกิดการผิดปกติของกระบวนการสร้างเซลล์ผิวใหม่ (keratinization) เมื่อเซลล์หลุดลอกรวมกันเป็นก้อน ก็จะทำให้เกิดรังแคชิ้นเล็กๆ ในที่สุด เราสามารถที่จะจัดระเบียบสังคม เอ๊ย! ไม่ใช่ค่ะ เราสามารถจัดระเบียบของกระบวนการสร้างเซลล์ผิวใหม่ได้ด้วยการใช้แชมพูบางอย่างที่มีสาร ซิงค์ ไพริไธโอน (ZPT – Zinc pyrithione) ซึ่งจะช่วยรักษาหนังศีรษะโดยการทำให้การสร้างเซลล์ผิว หรือการผลิตไขผิวหนัง (Sebum) เป็นปกติหรือทั้งสองอย่าง นอกจากนั้นงานวิจัยบางอย่างยังพบว่าการใช้สาร ZPT จะทำให้เชื้อราต่างๆ ที่หนังศีรษะลดจำนวนลงด้วย เนื่องจากคุณสมบัติการเป็นสารต่อต้านเชื้อราของมันนั่นเอง แชมพูที่มีสาร ZPT จึงเป็นหนึ่งในหนทางที่สามารถลดรังแคลงได้ นอกจากนี้ก็ยังมีสารอื่นเช่น ซีลีเนียม ซัลไฟด์ (Selenium Sulfide) ที่สามารถควบคุมรังแคได้ โดยจะไปจัดการควบคุมผลที่เกิดจากกระบวนการทำงานของเชื้อรามาลาสซีเซีย (กว่าการที่จะไปควบคุมการสร้างเซลล์ที่รวดเร็วแบบผิดปกติ) อย่างไรก็ตามการใช้สารเคมีนี้อย่างไม่ถูกต้องอาจจะกลับทำให้อาการรังแครุนแรงขึ้นได้ นอกจากนี้ก็อาจจะยังมีการใช้กรดธรรมชาติเช่น กรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) ที่ช่วยสลายความเป็นก้อนของเซลล์ออกจากกันทำให้สามารถกำจัดล้างออกได้ง่าย หรือการใช้ครีมหรือยาเพื่อกำจัดเชื้อรามาลาสซีเซีย (เช่น ketoconazole ซึ่งมีแชมพูบางยี่ห้อนำไปเป็นส่วนผสม) ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการกำจัดรังแคwได้ เพื่อนๆ จะเห็นว่า รังแคแม้จะเป็นปัญหาที่สำคัญกับสาวๆ ของเรา แต่ก็มีวิถีทางในการลดความรุนแรง
หรือแม้กระทั่งกำจัดให้หมดไปได้ ทั้งนี้ก็ต้องใช้คู่กันระหว่างวิธีทางเคมี และการรักษาร่างกายให้สะอาด พักผ่อนให้เพียงพอ เล่นกีฬาให้ร่างกายแข็งแรง แล้วทุกๆ อย่างก็จะดีขึ้นมาได้จากภายในของตัวเรา จะเรียกว่าสวยจากภายในก็ได้ค่ะเพื่อนๆ ขา
แหล่งอ้างอิง : http://www.physics2u.org

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *