ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาพระนครศรีอยุธยา
ความรู้ทั่วไปบทความสุขภาพ

จามบอกเหตุ

(นางสาวปรางค์แก้ว  แหลมสุข)
นักวิชาการวิทยาศาสตร์ศึกษา

          เวลาที่มีคนจามติดต่อกันหลาย ๆ ครั้ง จะมีคนพูดขึ้นว่า มีคนบ่นถึงหรือมีคนนินทาอยู่หรือเปล่าจนเหมือนกลายเป็นเรื่องล้อเล่นและความเชื่อ แต่จริงๆ แล้วการจามเป็นกลไกการป้องกันอันตรายของร่างกายและบางครั้งก็เป็นสัญญาณเตือนของโรคต่าง ๆ อาการจามสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกฤดูกาล เพราะสาเหตุหลักของการจามนั้นมาจากสิ่งแปลกปลอมโดยเฉพาะสารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่น เชื้อราในอากาศ มด และละอองเกสร ล้วนเป็นสิ่งกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการจามเพื่อเคลียร์หรือฟื้นฟูการทำงานของจมูก โดยเป็นการทำงานร่วมกันของจมูก ปาก ดวงตา ปอด กะบังลม และกล้ามเนื้อหน้าอก เพราะในขณะที่เราจาม ตาของเราจะปิดลงกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องจะหดตัว ลิ้นเคลื่อนไปแตะเพดานปาก และบางครั้งจะหลั่งน้ำมูก หรือน้ำตาออกมากระตุ้นให้ร่างกายจามยิ่งขึ้นเพื่อเอาสิ่งแปลกปลอมออกจากร่างกายมากขึ้นอีกด้วย

            อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการจามและคัดจมูก คือโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคจมูกอักเสบที่อาจเกิดจากการแพ้ และการติดเชื้อสามารถนำไปสู่โรคที่มีอาการรุนแรงขึ้นที่เรียกว่า ไซนัสอักเสบทั้งแบบฉับพลันและเรื้อรัง โรคที่พบอยู่บ่อย ๆ ก็คือโรคหวัดหรือไข้หวัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งมีหลากหลายสายพันธุ์ พบบ่อยในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง ทั้งฤดูฝน และฤดูหนาว สามารถพบผู้ติดเชื้อได้ทุกช่วงอายุ เมื่อเราจามผู้ใหญ่จะบอกให้เราใช้มือ ผ้าเช็ดหน้า หรือกระดาษทิชชูปิดจมูกและปากด้วย ไม่ว่าตัวเราเองจะเป็นคนจามหรือคนรอบข้างเราจาม ก็ควรป้องกันทั้งสิ้น เพื่อตัวเราเองและคนรอบข้าง แม้ในบริเวณนั้นไม่มีใครจามก็ไม่ได้แสดงว่าสะอาดหรือปราศจากเชื้อโรค ดังนั้นเราจึงควรหลีกเลี่ยงสถานที่ ที่มีสิ่งกระตุ้นให้จาม สถานที่แออัด รวมทั้งไม่ใช้มือสัมผัสหน้า ตา จมูกและปากเพราะเป็นช่องทางที่เชื้อโรคสามารถเข้าสู่ร่างกายของเราได้ และการสังเกตอาการจามของตัวเองด้วยว่าผิดปกติหรือไม่ กลไกของร่างกายที่เราคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยอาจจะสะท้อนสภาวะของร่างกายและสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเพื่อเตือนให้เราระมัดระวังจากสิ่งผิดปกติที่เรามองไม่เห็นก็ได้

ที่มา : http://www.nsm.or.th/other-service

views 2

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *