ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาพระนครศรีอยุธยา
ธรรมชาติบทความเศรษฐกิจพอเพียง

ศาสตร์พระราชา กับ วันดินโลก

นางสาวพิศสมัย คล้ายอุบล
นักวิชาการวิทยาศาสตร์ศึกษา

                    เริ่มต้นจากที่มีการประชุมวิทยาศาสตร์ทางดินของโลก ครั้งที่ 17 ณ กรุงเทพมหานคร ในปี 2545 มีนักวิทยาศาสตร์ทางดินจากทั่วโลกมาร่วมประชุม ภายในงานมีการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรดิน รวมถึงการจัดตั้งโครงการพระราชดำริในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ

                    ซึ่งนิทรรศการดังกล่าว ทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมประจักษ์ถึงพระวิสัยทัศน์ในการบริหารทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน โดยทรงให้ความสำคัญกับทรัพยากรดิน ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่สนพระราชหฤทัยในวิทยาศาสตร์ทางดิน และผลสำเร็จจากการบริหารจัดการดินอย่างต่อเนื่องของพระองค์ เป็นที่ยอมรับอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ

                    ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการหารือเรื่องการจัดตั้ง “วันดินโลก” โดยที่ประชุมคณะกรรมการ สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ มีมติให้วันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นวันดินโลก เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณของพระองค์ โดยใช้วันนี้เป็นวันรณรงค์ให้ชาวโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรดินที่มีต่อความอยู่รอด ของมวลมนุษยชาติและสภาพแวดล้อม และความจำเป็นต้องมีการจัดการทรัพยากรที่ดินอย่างยั่งยืน

                    ดิน เป็นวัตถุธรรมชาติที่ปกคลุมผิวโลกอยู่บางๆ เกิดขึ้นจากผลของการแปรสภาพหรือ ผุพังของหินและแร่ และอินทรียวัตถุผสมคลุกเคล้ากัน ด้วยความที่ดินเป็นอินทรียวัตถุ จึงทำให้ดินเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพพื้นที่ และการใช้ที่ดิน แนวทางการจัดการดินของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีหลายแนวทาง ซึ่งสามารถดำเนินการได้จริง และให้ผลอย่างเป็นรูปธรรมกับดิน

การส่งความรักให้กับดินโดยวิธีห่มดิน

                    ดินที่ไม่มีพืชปลูกคลุมอยู่ เปรียบได้กับดินที่ไม่ได้รับการดูแล เมื่อปล่อยไว้ ความอุดมสมบูรณ์ และจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในดินจะตาย ส่งผลให้ดินไม่มีคุณภาพ ปลูกพืชไม่เกิดผล พระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแนวพระราชดำริในการดูแลและรักษาดินนั่นคือ การห่มดิน โดยใช้ฟาง เศษใบไม้ เศษหญ้า หรือ พรมใยปาล์ม (wee drop) ที่ทำมาจากปาล์มที่ผ่านการรีดน้ำมันแล้วมาตะกุย ให้เป็นเส้นๆ นำมาคลุมดินบริเวณโคนต้นไม้อย่างต่อเนื่องตลอดแปลง

ทำให้ดินเป็นกรดก่อนนำไปใช้ด้วยการแกล้งดิน

                    ในปี พ.ศ. 2524 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเยี่ยมราษฎร ในเขต จ.นราธิวาส ทรงพบว่าพื้นที่พรุแปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด จึงทรงพระราชทานแนวพระราชดำริ แก้ปัญหาดินเปรี้ยวโดยการขังน้ำไว้ในพื้นที่จนเกิดปฏิกิริยาเคมีทำให้ดินเปรี้ยวจัดจนถึงที่สุดก่อน แล้วจึงระบายน้ำออก และปรับสภาพฟื้นฟูดินด้วยปูนขาวจนดินมีสภาพดีที่จะใช้ในการเพาะปลูกได้

ล้างดินเค็ม

                    เป็นดินที่มีเกลืออยู่ในดินเป็นจำนวนมาก จากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงเป็นที่มาของโครงการแก้ไขปัญหาดินเค็มบริเวณห้วยบ่อแดง อ.บ้านม่วง จ.สกลนคร ซึ่งมีการขุดลอกแหล่งน้ำสาธารณะ เพื่อขนย้ายคราบเกลือที่สะสมอยู่บนดิน และทำการล้างดิน ในลำห้วยเพื่อให้เกลือเจือจาง และสามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำนั้นได้ และจากแนวพระราชดำรินี้ นำไปสู่วิธีการต่อยอดและประยุกต์ใช้กับระบบชลประทานอีกด้วย

การสร้างของดีบนของเลว

                    ดินดาน ดินแข็ง และดินลูกรัง เป็นดินเนื้อละเอียด มีน้ำหนักมาก น้ำและอากาศผ่านเข้าออก ได้ยาก จึงปลูกพืชไม่ไม่ดี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแนวพระราชดำริ สร้างของดีบนของเลว ช่วยฟื้นฟูให้ที่ดินที่เสื่อมโทรม สามารถปลูกพืชได้ โดยสร้างอ่างเก็บน้ำตามลำน้ำหลัก เพื่อเก็บกักน้ำรักษาความชุ่มชื้น มีการปรับปรุงดินโดยใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด และปลูกพืชตระกูลถั่วแล้วไถกลบ ปลูกหญ้าแฝกขวางแนวลาดเทขนานกันหลายๆ แนว เพื่อป้องกันไม่ให้หน้าดินถูกชะล้างพังทลาย

แหล่งที่มา

ออนไลน์. http://www.nsm.or.th/online-science/knowledgebase/science-articles.html#page=3 องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ

views 0

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *