วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
Latest:
ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาพระนครศรีอยุธยา
ความรู้ทั่วไปธรรมชาติบทความ

รู้ทันเพลี้ยแป้ง ราดำ ในทุเรียนศัตรูตัวฉกาจทำลายผลผลิต

(นายฐาปนิก  ผาสุกะกุล)
นักวิชาการวิทยาศาสตร์ศึกษา

ในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่าหลายๆสวนประสบปัญหากับเจ้าเพลี้ยแป้งตัวปัญหาบุกสวนกัน วันนี้เราเลยอยากมานำเสนอข้อมูลเพื่อให้พี่น้องเกษตรกรทำความรู้จักกับเจ้าแมลงตัวนี้กันครับ

ลักษณะทางกายภาพ

เพลี้ยแป้งที่พบที่ผลทุเรียนส่วนมากเป็นเพลี้ยแป้งแปซิฟิก (Pacific mealybug) Planococcus minor (Maskell): Pseudococcidae ตัวเต็มวัยเพศเมียมีรูปร่างรูปไข่ค่อนข้างกลม ตัวสีขาวคล้ายผงแป้งปกคลุมลำตัว ขนาดลำตัวยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร มีเส้นสีดำกลางลำตัว ไขที่ด้านข้างมักโค้งปลาย ไขที่ส่วนท้ายยาวไม่เกิน 1/8 ลำตัว ถุงไข่อยู่ใต้ลำตัว

วงจรชีวิตของเพลี้ยแป้ง

วางไข่เป็นกลุ่ม ๆ ละ 100-200 ฟอง เพศเมียตัวหนึ่งสามารถวางไข่ได้ 600-800 ฟอง ภายในเวลา 14 วันไข่จะฟักอยู่ในถุงใต้ท้อง ระยะไข่ประมาณ 6-10 วัน เพศเมียเมื่อวางไข่หมดแล้วจะตายไป เพลี้ยแป้งเพศเมียลอกคราบ 3 ครั้ง และไม่มีปีก ส่วนเพศผู้ลอกคราบ 4 ครั้ง มีปีกและมีขนาดเล็กกว่าเพศเมีย เพลี้ยแป้งสามารถขยายพันธุ์ได้ 2-3 รุ่น ใน 1 ปี

ในระยะที่พืชอาหารไม่เหมาะสมเพลี้ยแป้งจะอาศัยอยู่ใต้ดินตามรากพืชเช่นหญ้าแห้วหมูการเคลื่อนที่ของเพลี้ยแป้งจะอาศัยมดซึ่งคอยกินสิ่งที่ขับถ่ายจากเพลี้ยแป้งเป็นตัวพาไป

เพลี้ยแป้งมักจะระบาดทำความเสียหายแก่ผลทุเรียน ตั้งแต่ระยะที่ทุเรียนเริ่มติดผล จนกระทั่งผลโตเต็มที่พร้อมที่จะเก็บเกี่ยว

ลักษณะการทำลาย

เพลี้ยแป้งจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากบริเวณกิ่ง ช่อดอก ผลอ่อน ผลแก่ โดยมีมดดำเป็นตัวคาบพาไปยังส่วนต่าง ๆ ของพืช นอกจากนี้เพลี้ยแป้งจะขับน้ำหวาน (honey dew) ออกมาเป็นสาเหตุให้ราดำที่มีอยู่ในธรรมชาติเข้าทำลายซ้ำ หากพบเพลี้ยแป้งเข้าทำลายทุเรียนในระยะผลเล็กจะทำให้ผลแคระแกร็น ไม่เจริญเติบโต แต่ถ้าเป็นผลใหญ่ทำให้คุณภาพผลทุเรียนลดลงและไม่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค

วิธีป้องกัน

กรมส่งเสริมการเกษตร ขอแนะนำให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งทุเรียน โดยหมั่นสำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบเพลี้ยแป้งระบาดเล็กน้อย เช่น บนกิ่ง ให้ตัดส่วนที่ถูกทำลายทิ้งไป หากพบบนผลทุเรียนในปริมาณน้อยอาจใช้แปลงปัด ใช้น้ำพ่นให้เพลี้ยแป้งหลุด

สารป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งที่แนะนำ

กลุ่ม 1A คาร์บาริล (carbaryl)

กลุ่ม 1B มาลาไธออน (Malathion) กลุ่ม 4A ไทอะมีทอกแซม (Thiamethoxam) กลุ่ม 4A ไดโนทีฟูแรน (Dinotefuran)

พร้อมเสริมประสิทธิภาพ ด้วยสารยับยั้งการสังเคราะห์ไคตินของแมลง ทำให้ส่งผลต่อการเจริญเติบโต เช่น กลุ่ม 16 บูโพรเฟนซิน (Buprofezin) และเสริมด้วยสารเพิ่มประสิทธิภาพกลุ่มออยล์ ไวต์ออยล์ (White oil)

views 26

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *