วันพฤหัสบดี, เมษายน 18, 2024
Latest:
ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาพระนครศรีอยุธยา
ความรู้ทั่วไปดาราศาสตร์และอวกาศบทความเทคโนโลยี

GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)

นายอนุกูล   เมฆสุทัศน์
นักวิชาการวิทยาศาสตร์ศึกษา

แอดมินชวนคุย.. วัตถุอวกาศ เรื่องชวนรู้จากแดนไกล

แอดมินเชื่อว่า ถ้าเราพูดถึงวัตถุอวกาศ เราจะนึกถึงสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่นอกโลกวนเวียนอยู่เต็มไปหมด ทั้งที่อยู่ในพื้นที่ของวงโคจรดวงอาทิตย์ วงโคจรของโลก และในอวกาศ มีประโยชน์เพื่อการศึกษาอวกาศและภาคพื้นดิน เช่น ดาวเทียม จรวด ยานอวกาศ สถานีอวกาศ อุปกรณ์เพื่อการดำรงชีวิตของนักบินอวกาศ รวมไปถึงระบบดวงดาว   ต่าง ๆ กลุ่มกาแลคซี่ และอุกกาบาต เป็นต้น แล้วแท้ที่จริง “วัตถุอวกาศ” คืออะไร วันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจกันครับ

วัตถุอวกาศ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทครับ ซึ่งประกอบด้วย วัตถุอวกาศที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีประโยชน์อย่างมากในการศึกษาเกี่ยวกับดวงดาวและปรากฏการณ์ต่าง ๆ ของวัตถุอวกาศ ตัวอย่างเช่น ดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์แคระ ดาวหาง อุกกาบาต หลุมดำ (วัตถุขนาดใหญ่ที่อยู่ในห้วงอวกาศ) เป็นต้น

วัตถุอวกาศที่มนุษย์สร้างขึ้นและตั้งใจส่งไปยังวงโคจรของโลกและอวกาศเพื่อทำการสำรวจ การปฏิบัติการ หรือช่วยเหลือสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในชั้นบรรยากาศ ชั้นวงโคจร รวมทั้งภาคพื้นดินบนพื้นผิวโลกหรืออวกาศ ตัวอย่างเช่น ยานสำรวจอวกาศ กระสวยอวกาศ กล้องโทรทรรศน์อวกาศ กล้องโทรทรรศน์ฮับเบิล (เป็นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญอย่างหนึ่งต่อการศึกษาดาราศาสตร์) สถานีอวกาศนานาชาติ และดาวเทียม

ปัจจุบันมีวัตถุอวกาศมากมายที่ลอยล่องอยู่ในห้วงอวกาศ หากไม่มีการควบคุมหรือบริหารจัดการที่ดีจะทำให้เกิดเป็นวัตถุอวกาศเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว และต่อไปก็จะกลายสภาพเป็นขยะอวกาศนั่นเอง เคยคิดมั้ยว่าสิ่งเหล่านี้อาจจะส่งผลกระทบต่อโลก กระทบต่อคุณภาพชีวิตและทรัพย์สินของเราได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องบริหารจัดการที่ดี โดยทั่วโลกมีองค์การสหประชาชาติเป็นหน่วยงานกำกับดูแลกิจกรรมเกี่ยวกับอวกาศทั้งหมดโดยมีกฎหมายและสนธิสัญญาเกี่ยวกับอวกาศหลักๆด้วยกัน 5 ฉบับ (5 ฉบับคุยกันไปในครั้งที่แล้วในเรื่องกฎหมายอวกาศ) ครับ สงสัยใช่มั้ยครับ.. ว่าประเทศไทยมีการดูแลในเรื่องนี้หรือไม่ แน่นอนครับ ประเทศไทยของเราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง ดูเหมือนจะเป็นเรื่องไกลตัว แต่แท้ที่จริงแล้วใกล้ตัวเรามาก อาจจะมีวัตถุอวกาศตกใส่โลกเมื่อไหร่ก็ได้ ความเสียหายที่จะตามมามากมายมหาศาลอย่างแน่นอน และนี่คือความสำคัญที่ทำให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 2 มิถุนายน 2563 เห็นชอบ (ร่าง) แนวปฏิบัติการรับจดแจ้งวัตถุอวกาศ และมอบหมายให้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า ดำเนินการรับจดแจ้งวัตถุอวกาศไปพลางก่อน นี่เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าประเทศไทยของเรามีความก้าวหน้าในภารกิจด้านอวกาศ ดังนั้น เพื่อส่งเสริมการดำเนินกิจการอวกาศให้เป็นไปตามมาตรฐานและหลักสากล รวมถึงสอดคล้องกับมติที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติที่ร้องขอให้รัฐที่ปล่อยวัตถุขึ้นสู่อวกาศนำส่งข้อมูลของวัตถุนั้นโดยทันทีให้แก่คณะกรรมการว่าด้วยการใช้อวกาศในทางสันติ (Committee on the Peaceful Uses of Outer Space: COPUOS) ผ่านสำนักงานกิจการอวกาศส่วนนอกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office for Outer Space Affairs: UNOOSA) ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงต้องมีแนวปฏิบัติการรับจดแจ้งวัตถุอวกาศเพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความรับผิดชอบและพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกในการดำเนินกิจการอวกาศที่ยั่งยืนนั่นเองครับ

เห็นมั้ยครับว่าประเทศไทยของเราตระหนักและให้ความสำคัญกับการดำรงชีวิตบนโลกเป็นอย่างยิ่ง และพร้อมที่จะดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ อย่างถูกต้องและถูกกฎระเบียบของสังคม การขับเคลื่อนในเรื่องใดก็แล้วแต่อาจจะต้องใช้เวลา ทุกสิ่งทุกอย่างจะสำเร็จไม่ได้หากเราไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน / ขอบคุณที่ติดตามเรื่องราวสาระความรู้ดี ๆ กันมาตลอดครับ

อ้างอิง : 26 มิถุนายน เวลา 09:25 น.

#gistda #จิสด้า #จิสด้า ก้าวสู่ปีที่20 #อวกาศ #วัตถุอวกาศ #สาระ #เรื่องน่ารู้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *