ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาพระนครศรีอยุธยา
ความรู้ทั่วไปบทความ

วิทยาศาสตร์กับความรัก

( วัฒนา สุริยะ )
นักวิชาการวิทยาศาสตร์ศึกษา

วันวาเลนไทน์เป็นช่วงเวลาที่ใครๆ มักจะนึกถึงความรัก ความรักคือสิ่งที่สวยงาม คือ พลังที่ขับเคลื่อนความปรารถนาของมนุษย์แต่ขณะเดียวกันความรักช่างมืดมิดและสร้างความทุกข์ให้กับหลาย ๆ คน เคยสงสัยกันบ้างหรือไม่ว่า ความรักเกิดขึ้นได้อย่างไรและเมื่อเกิดความรักขึ้นแล้ว ร่างกายของเราจะเกิดปฏิกิริยาอะไรบ้าง วันนี้เรามีคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้มาเล่าให้ทุกคนฟังกัน

ที่มารูปภาพ : https://th.reoveme.com/4-3/  

             ก่อนที่จะเริ่มเกิดความรู้สึกรักนั้น จะมีสารเคมีชนิดหนึ่งที่เป็นตัวนำพาให้เราเกิดความรัก เรียกว่า ฟีโรโมน (Pheromones)ซึ่งเป็นสารเคมีที่สัตว์หลายชนิดสร้างขึ้นมาเพื่อดึงดูดเพศตรงข้าม ในมนุษย์ก็มีเช่นเดียวกัน ฟีโรโมนนี้ไม่สามารถสัมผัสได้จากการสูดดมทางจมูก แต่สามารถรับรู้ได้จากสมอง ซึ่งคนที่จะได้รับกลิ่นนี้ได้ ต้องมีฟีโรโมนตรงกับเราเท่านั้น เฮเลน ฟิเชอร์นักมานุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยรัตเกอร์ รัฐนิวเจอร์ซีย์ ได้แบ่งความรักออกเป็น 3 ระดับ คือ ความใคร่ (Lust) ความเสน่หา(Attraction) และความผูกพัน (Attachment)

             1) ความใคร่ เป็นช่วงเวลาที่ทำให้เกิดความหลงใหล ความใคร่ และเกิดแรงขับทางเพศ ซึ่งความรู้สึกของคนสองคนในช่วงนี้ร่างกายจะถูกกระตุ้นด้วยฮอร์โมนที่สำคัญอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ ฮอร์โมนเพศหญิง
คือ เอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนเพศชายคือ เทสโทสเตอโรน (Testosterone) ทำให้รู้สึกเขินเวลามองตากัน หรือได้เจอกันแล้วเกิดอาการตื่นเต้น หัวใจเต้นแรง

             2) ความเสน่หา เป็นช่วงเวลาแห่งการตกหลุมรัก ซึ่งเป็นอีกช่วงที่การใช้ชีวิตของเราจะเปลี่ยนแปลงไป เพราะความรักที่เข้าสู่ช่วงนี้แล้วทำให้หลายคนเริ่มมีอาการเพ้อและคิดถึงคนรักตลอดเวลา อาการที่เกิดขึ้นในช่วงนี้จะถูกควบคุมโดยสารสื่อประสาทกลุ่มที่เรียกว่าโมโนอะมิเนส (Monoamines) 3 ชนิด คือ โดพามีน (Dopamine) สารแห่งความสุขและความพึงพอใจที่หลั่งออกมา เมื่อร่างกายเราได้รับสิ่งที่เราปรารถนา ฮอร์โมนเอพิเนฟรีน (Norepinephrine) หรือ อะดรีนาลิน (Adrenalin) ฮอร์โมนที่ทำให้ร่างกายตื่นตัว หัวใจเต้นแรงเมื่อได้พบกับใครสักคนที่เรารัก และสุดท้ายคือ เซโรโทนิน (Serotonin) เป็นสารชีวเคมีที่สำคัญต่อกลไลการตกหลุมรัก ส่งผลต่ออารมณ์และการแสดงออกของเรา ในขณะที่สมองหลั่งเซโรโทนิน เราอาจแสดงพฤติกรรมบางอย่างออกมาแบบไม่รู้ตัว ในขณะที่เรารู้สึกรักใครสักคนดังนั้น ความรักที่มีทั้งรัก ทั้งซึ้ง ทั้งเหงารวมอยู่ด้วยกันก็เกิดจากสารเซโรโทนิน

             3) ความผูกพัน ในช่วงเวลานี้ร่างกายจะถูกควบคุมโดยฮอร์โมนสำคัญ 2 ชนิด คือ ออกซีโทซิน (Oxytocin) เป็นฮอร์โมนที่ทำให้จิตใจสงบปลอดภัย คลายเครียด โดยออกซิโทซินจะหลั่งออกมาเมื่อเรา
มีการกอด การสัมผัส หรือใกล้ชิดกัน ให้เกิดความรัก ความผูกพันและความเชื่อใจซึ่งกันและกันขึ้น นอกจากนี้ยังมีฮอร์โมนวาโซเพรสซิน (Vasopressin) เป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้คู่รักนั้นมีความรู้สึกผูกพันกันยาวนานมากขึ้น
โดยสมองจะหลั่งสารวาโซเพรสซินออกมาหลังจากมีความสัมพันธ์กันของคู่รัก เป็น ฮอร์โมนที่ทำให้มีความรู้สึกผูกพันหวงแหนอยากดูแลและปกป้องคนรักของตน ถึงแม้ว่าความรักจะเป็นปฏิกิริยาทางเคมีที่เกิดขึ้น

ภายในร่างกายเพื่อตอบสนองความต้องการกับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อม แต่เราควรเข้าใจอยู่เสมอว่าความรักนั้นยังขึ้นอยู่กับสิ่งต่างๆ อีกมากมาย ไม่ใช่แค่เพียงสารเคมีในร่างกายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงปัจจัยทางสังคม วัฒนธรรม รวมถึงการเรียนรู้อีกด้วย

             ดังนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าต่อจากนี้ไปเราจะต้องรักกันด้วยวิทยาศาสตร์ แต่เราควรให้ความรักที่เกิดขึ้นดำเนินไปตามธรรมชาติและคำนึงถึงความถูกต้องเหมาะสมเป็นสำคัญ

เอกสารอ้างอิง

ที่มาข้อมูล : https://ngthai.com/science/7690/scienceoflove

         http://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/65431/-blo-scibio-sci-

เรียบเรียงโดย : นายชนินทร์ สาริกภูติ

views 0

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *