ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาพระนครศรีอยุธยา
ความรู้ทั่วไปบทความสุขภาพ

เทคนิคตัดต่อพันธุกรรมทารกยังไม่ปลอดภัยในปัจจุบัน

นางสาวปรางค์แก้ว แหลมสุข
นักวิชาการวิทยาศาสตร์ศึกษา

           คณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากนานาชาติระบุ เทคนิคทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่ปลอดภัยหรือยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการให้กำเนิดทารกที่ได้รับการตัดต่อพันธุกรรม แม้เทคโนโลยีการตัดต่อพันธุกรรมจะสามารถป้องกันการส่งต่อโรค ที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากพ่อแม่สู่ลูกได้ แต่คณะกรรมการระบุว่ายังจำเป็นต้องศึกษาวิจัยในเชิงลึกอีกมาก

          ทารกรายแรกของโลกที่ได้รับการตัดต่อพันธุกรรมขณะยังเป็นตัวอ่อนถือกำเนิดขึ้นในประเทศจีน นักวิจัยด้านพันธุศาสตร์ชาวจีนที่เป็นผู้ตัดต่อยีนของตัวอ่อนมนุษย์ถูกตัดสินจำคุก ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญพากันวิพากษ์วิจารณ์เพราะทั่วโลกถือว่าการตัดต่อยีนในตัวอ่อนมนุษย์เป็นเรื่องผิดต่อจริยธรรมการวิจัยด้านชีวการแพทย์ (Biomedical Science) อย่างร้ายแรง และมีการตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาเพื่อศึกษาเรื่องนี้

           การตัดต่อพันธุกรรม อาจช่วยป้องกันโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้หลายโรค ด้วยการตัดทิ้ง หรือแก้ไขรหัสพันธุกรรมที่เป็นปัญหาในตัวอ่อน แต่ผู้เชี่ยวชาญกังวลว่า การดัดแปลงจีโนม (กลุ่มยีนในเซลล์ของสิ่งมีชีวิต) ของตัวอ่อน อาจทำให้เกิดผลเสียโดยไม่คาดคิด ไม่เพียงแต่เฉพาะกับทารกคนนั้น แต่ยังส่งผลต่อคนรุ่นต่อ ๆ ไป ในอนาคต ที่สืบทอดพันธุกรรมที่ถูกดัดแปลงนี้

          เทคนิคอย่างหนึ่งที่ใช้ในปัจจุบัน คือคริสเปอร์-แคสไนน์ (CRISPR) ซึ่งเป็นวิธีการตัดต่อยีนเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องทางพันธุกรรมที่มีความแม่นยำสูง ทำงานด้วยโมเลกุล 2 ชนิด ซึ่งประกอบด้วยอาร์เอ็นเอนำทาง (gRNA) และเอนไซม์แคสไนน์ (Cas9) โดยอาร์เอ็นเอนำทางที่ได้รับการออกแบบลำดับเบสมาโดยเฉพาะ จะพาให้เอนไซม์แคสไนน์ ซึ่งทำหน้าที่เหมือนกรรไกรเข้าตัดดีเอ็นเอทั้งสองสายในตำแหน่งที่ถูกต้อง ทำให้มีการแก้ไขดัดแปลงพันธุกรรมตามต้องการได้ แม้จะได้ผลในห้องปฏิบัติการ แต่กระบวนการนี้ก็ยังไม่สมบูรณ์แบบ เพราะเทคนิคการตัดต่อพันธุกรรมดังกล่าวอาจไปทำให้ยีนสำคัญอย่างยีน p53 ไม่ทำงาน ทั้งที่ยีนนี้มีหน้าที่ทำลายเซลล์ที่ดีเอ็นเอเสียหายและป้องกันการเกิดเนื้อร้าย จนมีความเสี่ยงจะเกิดมะเร็งได้

  • ให้มีการพูดคุยเรื่องนี้ในสังคมอย่างกว้างขวาง ก่อนที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะตัดสินใจอนุญาตให้มีการตัดต่อพันธุกรรมในลักษณะนี้ได้
  • หากได้รับการพิสูจน์แล้วว่าปลอดภัยและได้ผล ควรจำกัดการใช้งานในช่วงแรกเฉพาะกับโรคร้ายแรงและทำให้คนมีอายุขัยสั้นลงอันเป็นผลมาจากการผ่าเหล่าของยีน เช่น โรคซิสติก ไฟโบรซิส
  • มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดในทุกขั้นตอนเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดผลที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งรวมถึงการตรวจตัวอ่อนโดยละเอียดเป็นประจำ
  • ติดตามการตั้งครรภ์หรือเด็กที่เกิดขึ้นมาอย่างใกล้ชิด
  • ควรมีการตั้งหน่วยงานที่ให้คำปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศเพื่อประเมินหลักฐานเกี่ยวกับความปลอดภัยและประสิทธิผลอย่างต่อเนื่อง อนุญาตให้คนแจ้งความกังวลเกี่ยวกับการวิจัยต่าง ๆ ที่เบี่ยงเบนออกไปจากแนวทางที่กำหนด

          ซาราห์ นอร์ครอสส์ จากองค์กรโพรเกรสส์ เอ็ดยุเคชันแนล ทรัสต์ กล่าวว่า แม้จะมีความจำเป็นที่ต้องนำเรื่องของทารกรายแรกของโลกที่กำเนิดมาโดยผ่านการตัดต่อพันธุกรรมมาเป็นบทเรียน แต่รายงานของคณะกรรมการชุดนี้ถือว่าออกนอกขอบเขต
และกำหนดกฎเกณฑ์ไว้อย่างคับแคบในเรื่องการนำเทคนิคการแก้ไขจีโนมไปใช้ในทางการแพทย์ ขณะที่ ศาสตราจารย์แอนน์ จอห์นสัน จากสำนักงานการแพทย์สหรัฐฯ เห็นว่าการศึกษาชิ้นนี้มีความ “รอบคอบ” เพราะการจะนำความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ในลักษณะนี้ไปใช้กับคนไข้ที่ปราศจากทางเลือกอื่น จะต้องเป็นไปโดยมีพื้นฐานข้อมูลทางการแพทย์รองรับอย่างหนักแน่นแล้วว่ามีความปลอดภัยเพียงพอ และต้องทำควบคู่ไปกับการถกเถียงกันของสาธารณชน ที่ได้รับข้อมูล และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนที่สุด

ที่มา : https://www.bbc.com/thai/international

views 0

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *