ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาพระนครศรีอยุธยา
ความรู้ทั่วไปบทความสุขภาพ

วิถีชีวิตในวิกฤติโควิด-19

นายเดชา พูลสวัสดิ์
นักวิชาการวิทยาศาสตร์ศึกษา

วันนี้เราล้างมือไปแล้วกี่ครั้ง หลายคนอาจตอบว่า 10-20 ครั้ง หลายคนอาจตอบว่าล้างบ่อยมากเกือบทุก 5 นาที แต่ที่แน่ ๆ เราล้างมือกันบ่อยขึ้นมากกว่าเมื่อ 3 เดือนที่แล้ว
หากจำเป็นต้องออกจากบ้านในช่วงนี้ หลาย ๆ คนอาจจะต้องเผื่อเวลาเพิ่มขึ้นเพื่อสำรวจตัวเองว่ามีของใช้จำเป็นที่ต้องพกติดตัวไปครบหรือยัง เช่น หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ
แผ่นเช็ดทำความสะอาด หรือแม้กระทั่งหน้ากากป้องกันใบหน้า (face shield) เป็นต้น เวลาต้องไปพบปะผู้คนเราก็จะนั่งหรือยืนห่าง ๆ กันประมาณ 2 เมตรขึ้นไป ตามมาตรการการเว้นระยะห่างทางกายภาพ (physical distancing) เหล่านี้เป็นตัวอย่างพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้คนในสังคมในช่วงการระบาดของโควิด-19 เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในการป้องกันการระบาดของโรคนี้ พฤติกรรมเหล่านี้หากปฏิบัติซ้ำ ๆ ก็จะกลายเป็นความปกติและเป็นวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมอนาคตไปในที่สุด บทความนี้รวบรวมวิถีชีวิตที่กำลังจะเปลี่ยนไปภายหลังผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อให้ทุกคนเตรียมความพร้อมและปรับตัวให้เข้ากับความปกติใหม่ (new normal) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศและบนโลกของเรา

1. การใช้ชีวิตประจำวัน ผู้คนจะคำนึงถึงความปลอดภัยด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น ได้แก่

ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล เช่น การล้างมือ ทำความสะอาดร่างกาย เสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัว การดูแลความสะอาดของสถานที่พักอาศัย การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ อาหารที่ปลอดภัย สะอาด ปรุงสุกใหม่ ๆ

การงดใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น การหลีกเลี่ยงการไปในสถานที่แออัดหรือที่ชุมชน การสวมใส่หน้ากากอนามัยเวลาอยู่นอกบ้าน การหลีกเลี่ยงการทักทายแบบตะวันตก เช่น จับมือ กอด จูบ และการหลีกเลี่ยงการใช้ของสาธารณะ เช่น ปุ่มกดลิฟท์ ลูกบิดประตู ราวบันได

2. การทำงาน จะมีรูปแบบใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ได้แก่ ทำงานจากบ้าน (work from home) การติดต่อสื่อสารและประชุมผ่านระบบออนไลน์ การจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ บนระบบ cloud หรือคอมพิวเตอร์การใช้หุ่นยนต์หรือเครื่องจักรแทนพนักงาน การสวมหน้ากากอนามัยในที่ทำงาน การจัดโต๊ะทำงานโดยมีการเว้นระยะห่าง การจัดรถรับ-ส่งพนักงานเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้รถสาธารณะ การทำความสะอาดและพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในสถานที่ทำงาน การจำหน่ายสินค้าหรือบริการผ่านระบบออนไลน์ และการพัฒนาระบบขนส่งสิ่งค้า (logistic)

3. การบริโภค พฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภค ได้แก่ การซื้อสินค้าและบริการผ่านระบบออนไลน์  การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ร้านแต่การใช้การสั่งออนไลน์แทน การสนใจการออกกำลังกาย การชำระค่าสินค้าและบริการผ่านธุรกรรมออนไลน์ (สังคมไร้เงินสด) และการใช้แอพพลิเคชัน (application) เพื่อการทำธุรกรรมต่าง ๆ

4. การศึกษา ได้แก่ การเรียนและประเมินความรู้ผ่านระบบออนไลน์ (learn from home) การค้นคว้าข้อมูลจากห้องสมุดออนไลน์ (online library) การใช้ทรัพยากรอินเทอร์เน็ตอย่างกว้างขวาง การลดเวลาเรียนในชั้นเรียนสวมหน้ากากอนามัยเวลาอยู่ในชั้นเรียน
การเหลื่อมเวลาพักของผู้เรียนในสถานศึกษา การส่งเสริมสุขอนามัยของผู้เรียน เช่น จัดให้มีห้องสุขา ก๊อกน้ำล้างมือ โรงอาหาร ที่เหมาะสมและเพียงพอ เป็นต้น

วิถีชีวิตข้างต้นเป็นสิ่งใหม่ที่หลายท่านอาจจะยังไม่คุ้นชิน การรับมือกับสิ่งเหล่านี้สามารถทำได้โดย
1) ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เช่น ความรู้ด้านเทคโนโลยี การสื่อสารโดยระบบออนไลน์ ความรู้ด้านการแพทย์และสาธารณสุขเบื้องต้น เป็นต้น
2) ปรับตัวโดยยึดแนวปฏิบัติตามหลัก 3 สร้างของกรมสุขภาพจิต ได้แก่ สร้างความปลอดภัย ความสงบและความหวัง เพื่อสร้างความคิดเชิงบวกและไม่เกิดความวิตกกังวลเกินควรต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

ศาสตราจารย์ ดร.ภญ.ลีณา สุนทรสุข ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. วิถีชีวิตในวิกฤติโควิด-19. สืบค้นจาก https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/ .เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2563.

views 1

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *