วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาพระนครศรีอยุธยา
ความรู้ทั่วไปบทความสุขภาพ

ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 กับ แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรค

นายเดชา พูลสวัสดิ์
นักวิชาการวิทยาศาสตร์ศึกษา

          จากสถานการณ์ปัจจุบัน เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (2019-nCoV)  ซึ่งระบาดครั้งแรกที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ ประเทศจีน จากนั้นแพร่ระบาดไปยังหลายพื้นที่ในประเทศจีนและประเทศอื่น ๆ รวมถึงประเทศไทยด้วยการติดเชื้อไวรัสดังกล่าวในระบบทางเดินหายใจส่งผลให้เกิดโรคปอดอักเสบและพบรายงานผู้ป่วยเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 นี้ ทำให้ประชาชนตื่นตัวในด้านการดูแลสุขภาพเบื้องต้น กรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข แนะนำให้ประชาชนยึดหลัก“กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ สร้างสุขอนามัยที่ดี” นั่นคือ การล้างมือด้วยน้ำและสบู่อย่างถูกวิธีนับเป็นวิธีการทำความสะอาดที่ดีที่สุด อย่างไรก็ตามการทำงานนอกบ้าน การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะและกิจกรรมต่าง ๆ ในสถานที่สาธารณะทำให้วิธีการล้างมือดังกล่าวอาจไม่สะดวก ดังนั้นการใช้แอลกอฮอล์เจลหรือแอลกอฮอล์สเปรย์ทำความสะอาดมือจึงเป็นทางเลือกในกรณีที่ไม่สามารถล้างมือได้เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อโรคจากการหยิบจับและสัมผัสได้

แอลกอฮอล์ที่ใช้สำหรับฆ่าเชื้อโรคโดยทั่วไปมีกี่ชนิด

          แอลกอฮอล์ที่ใช้สำหรับฆ่าเชื้อโรคโดยทั่วไปมี 2 ชนิด คือ เอทิลแอลกอฮอล์ (ethyl alcohol) และ ไอโซโพรพิล แอลกอฮอล์ (isopropyl alcohol)แอลกอฮอล์ทั้ง 2 ชนิดเป็นของเหลวใส ไม่มีสี ระเหยได้ง่ายที่อุณหภูมิห้อง แอลกอฮอล์มีฤทธิ์ในการทำลายเชื้อแบคทีเรีย เชื้อวัณโรค เชื้อรา และเชื้อไวรัส แต่ไม่สามารถทำลายสปอร์ของเชื้อแบคทีเรียได้ แอลกอฮอล์จัดเป็นสารฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพแต่ฤทธิ์ในการทำลายเชื้อของแอลกอฮอล์จะลดลงมากหากความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ลดต่ำลง

ทั้งนี้พึงระลึกเสมอว่า “ห้ามใช้ เมทิลแอลกอฮอล์ (methyl alcohol) โดยเด็ดขาด” เนื่องจาก เมทิลแอลกอฮอล์ เป็นของเหลวใส ไม่มีสี ระเหยง่าย เป็นผลพลอยได้จากกระบวนการกลั่นทางปิโตรเคมีที่นิยมใช้เป็นตัวทำละลายในอุตสาหกรรมการทำเฟอร์นิเจอร์ เช่น สีทาไม้ น้ำมันเคลือบเงา ยาลอกสี ฯลฯ และใช้เป็นเชื้อเพลิงในธรรมชาติ มีความเป็นพิษต่อร่างกาย

ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์เท่าไรที่เหมาะสมในการฆ่าเชื้อโรค?

          เอทิลแอลกอฮอล์ และไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ มีประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อได้ดีเมื่อมีความเข้มข้น 60-90% โดยปริมาตรในน้ำ (%v/v) ซึ่งสอดคล้องตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวต้องประกอบด้วยเอทิลแอลกอฮอล์ หรือไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ ตั้งแต่หรือมากกว่า 70% โดยปริมาตรในน้ำ โดยความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ที่ใช้สำหรับทำลายเชื้อโรคโดยทั่วไปคือ 70% โดยปริมาตรในน้ำ ซึ่งมีแอลกอฮอล์และน้ำผสมกันด้วยสัดส่วนที่เหมาะสม ส่งผลต่อกลไกการออกฤทธิ์โดยการแพร่ผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ของเชื้อโรคได้ จึงทำให้โปรตีนเสียสภาพและทำให้เยื่อหุ้มเซลล์ของเชื้อโรคแตก ในกรณีของเชื้อไวรัสพบว่าเอทิลแอลกอฮอล์ทำลายเชื้อไวรัสชนิดที่มีชั้นไขมันหุ้ม (Lipohilic viruses) เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus) ไวรัสเริม (Herpes virus) ไวรัสเอชไอวี (HIV) รวมถึงไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 นี้ด้วย นอกจากนี้เอทิลแอลกอฮอล์ยังทำลายไวรัสชนิดที่ไม่มีชั้นไขมันหุ้ม (Hydrophilic virus) หรือไวรัสเปลือย (Naked virus) ได้หลายชนิด เช่น เชื้ออะดีโนไวรัส (Adenovirus) เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ไรโนไวรัส (Rhinovirus)            โรตาไวรัส (Rotaviruses) และไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B virus) แต่จะไม่ทำลายไวรัสตับอักเสบเอ (Hepatitis A virus) และโปลิโอไวรัส (Poliovirus) ส่วนไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์นั้นทำลายไวรัสชนิดที่มีชั้นไขมันหุ้ม แต่จะไม่ทำลายไวรัสซึ่งไม่มีชั้นไขมันหุ้ม เช่น เอนเทอโรไวรัส

ถ้าฉลากผลิตภัณฑ์ระบุความเข้มข้นของแอลกอฮอล์เป็น % โดยน้ำหนัก (%w/w) จะทราบได้อย่างไรว่าฆ่าเชื้อโรคได้?

เอทิลแอลกอฮอล์เข้มข้น 70-90% โดยปริมาตร (%v/v) เทียบเท่ากับเอทิลแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 62.4– 85.8% โดยน้ำหนัก (%w/w) ดังตารางเปรียบเทียบ ดังนั้นผู้บริโภคควรให้ความใส่ใจในปริมาณความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ที่ระบุในผลิตภัณฑ์ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์มีประสิทธิในการฆ่าเชื้อโรค


แอลกอฮอล์ 95% ให้ผลฆ่าเชื้อโรคดีกว่าแอลกอฮอล์ 70% หรือไม่?

          แอลกอฮอล์ 95 % โดยปริมาตรในน้ำ เช่น denature ethyl alcohol 95% (DEB 95) มีปริมาณของแอลกอฮอล์สูงมาก จึงระเหยรวดเร็วมากกว่าแอลกอฮอล์ 70% โดยปริมาตรในน้ำ และมีปริมาณน้ำในส่วนผสมไม่เพียงพอที่จะดูดซึมผ่านเยื่อหุ้มผนังเซลล์ของเชื้อโรค จึงไม่ใช้แอลกอฮอล์ 95% โดยปริมาตรในน้ำในการฆ่าเชื้อโรค นอกจากนี้ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ที่สูงนี้จะชะล้างปริมาณไขมันบนผิวทำให้ผิวแห้ง และระคายเคืองได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Rutala WA, Weber DJ, and Healthcare Infection Control Practices Advisory Committee. Guideline for Disinfection and Sterilization in Healthcare Facilities (2008). Center for disease control and prevention (update May 2019).
  2. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ พ.ศ. 2562. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนพิเศษ 230 ง หน้า 6-8 วันที่ 13 กันยายน 2562
  3. ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง วิธีการทดสอบและเกณฑ์ตัดสินผลการทดสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ พ.ศ. 2562
  4. Guideline for Disinfection and Sterilization in Healthcare Facilities, 2008 Accessible version: https://www.cdc.gov/infectioncontrol/guidelines/disinfection
  5. รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ. ดวงดาว ฉันทศาสตร์ ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภก. จตุรงค์ ประเทืองเดชกุล
    ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *