ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาพระนครศรีอยุธยา
ความรู้ทั่วไปบทความ

สุดยอดระบบภูมิคุ้มกันของ “ค้างคาว” พาหะเชื้อไวรัส CORONA 2019

นางสาวพิศสมัย คล้ายอุบล
นักวิชาการวิทยาศาสตร์ศึกษา

          การแพร่ระบาดของ ‘ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019’ ที่มีจุดเริ่มต้นในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตค่อยๆ ขยายวงกว้างในหลายๆ ประเทศนอกจากจีน ซึ่งต้นตอของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 นี้มาจาก ‘ค้างคาวหัวมงกุฎทองแดง’ ที่พบในประเทศจีน และถ้าใครได้ติดตามข่าวสารถึงต้นเหตุที่มาของเชื้อโคโรนาที่ระบาดในครั้งนี้ก็ต้องพูดว่า ค้างคาว อีกแล้วหรือนี่ เพราะเชื้อไวรัสที่ระบาดและรุนแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็จะพบสาเหตุว่าล้วนมาจาก ค้างคาวทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นโรค SARS ที่ระบาด ในปี ค.ศ. 2003 และ MERS ที่ระบาดที่ซาอุดิอาระเบีย ในปี ค.ศ. 2012 หรือแม้กระทั่ง ไวรัส Ebola ที่ถูกยกเป็นไวรัสที่มีความรุนแรงระดับต้นๆ ก็เจอในค้างคาวได้เช่นกัน

          ค้างคาวมีลักษณะตรงตามที่คำอุปมาที่คนไทยเรียกมาตั้งแต่โบราณว่า “นกมีหู หนูมีปีก” แต่ค้างคาวไม่ใช่หนู และไม่ใช่นก ค้างคาวเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมในอันดับ Chiroptera แล้วค้างคาว ที่เป็นพาหะนำโรคร้ายแรงหลายชนิดนี้ ทำไมตัวมันถึงไม่เป็นอะไร แล้วอะไรที่เป็นสาเหตุ หรือปัจจัยที่ทำให้ ค้างคาวนั้นสามารถต้านทานการเจ็บป่วยจากเชื้อโรคหลายๆชนิดได้

          ทีมนักวิจัยจาก Duke-NUS Medical school ประเทศสิงคโปร์ได้ทำการวิจัยและตีพิมพ์ ในวารสารวิชาการ ของ Nature Microbiology บอกถึงสาเหตุที่ทำให้ค้างคาวไม่มีอาการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อไวรัสต่าง ๆ ว่าจุดสำคัญที่ทำให้ค้างคาวไม่เป็นอะไรเลย คือ ค้างคาวไม่มีการอักเสบหลังจากการติดเชื้อไวรัส เหมือนกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ๆ ซึ่งทำให้ค้างคาวนั้นไม่เกิดอาการเจ็บป่วยนั่นเอง และทางทีมวิจัยได้กล่าวเสริมต่ออีกว่า มีโปรตีนชนิดหนึ่ง ชื่อว่า NLRP3 ซึ่งปกติจะเป็นโปรตีนที่กระตุ้นการอักเสบในร่างกาย ซึ่งพบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ทางทีมวิจัยได้ลองทดสอบการกระตุ้นโปรตีนตัวนี้ด้วยการทดลองเปรียบเทียบกัน ระหว่าง ค้างคาว หนู และคน โดยพบว่าค้างคาว มีโปรตีน NLRP3 ที่เป็นแบบเฉพาะไม่เหมือนกับสัตว์ชนิดอื่น ๆ และเมื่อเกิดการติดเชื้อไวรัส จะเกิดการกระตุ้นโปรตีนชนิดนี้น้อยมากในค้างคาว เมื่อเทียบกับหนูหรือคน (ในการทดลองนี้ใช้ไวรัส 3 ชนิด คือ Influenza A virus, MERS corona virus, Melaka virus) ซึ่งการกระตุ้นโปรตีนชนิดนี้น้อยกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ๆ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ค้างคาวเป็นสัตว์ที่ไม่ป่วยจากไวรัสต่างๆ แต่แน่นอนว่ากลไกต่างๆที่ทำให้ค้างคาวไม่ป่วยจากเชื้อไวรัสก็ยังเป็นเรื่องที่ซับซ้อน และยังคงต้อง ศึกษาวิจัยเพิ่มเติม ถึงสาเหตุอื่นๆอีกด้วย เผื่อไม่แน่ในอนาคต เราอาจจะนำความสามารถเหล่านี้ในค้างคาวมาพัฒนา เป็นเครื่องมือในการป้องกันการเกิดโรคระบาดในอนาคตได้

ค้างคาวในไทย กับ เชื้อไวรัส CORONA 2019

          รศ.ดร.ประทีป อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิจัยที่ทำงานร่วมกับคณะแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในการวิจัยเพื่อเฝ้าระวังเชื้อไวรัส ที่จะก่อให้เกิดโรคอุบัติใหม่จากสัตว์สู่คน โดยเริ่มอธิบายว่า ‘ค้างคาว’ เป็นสัตว์กลุ่มพิเศษชนิดหนึ่ง เป็นแหล่ง เชื้อโรคต่าง ๆ แต่เหตุที่ไม่ป่วย ไม่อ่อนแอ นั่นเป็นเพราะมีภูมิต้านทานต่อโรคตลอดเวลา ซึ่งเป็นวิวัฒนาการ ที่เกิดคู่กัน และ ในประเทศไทยเองมีการพบค้างคาวมงกุฎทั้งหมด 23 ชนิด โดยหนึ่งในนั้นคือค้างคาวมงกุฎเทาแดงชนิดเดียวกันกับที่จีน แต่จากที่เคยมีการเก็บกลุ่มตัวอย่างค้างคาวในกลุ่มนี้มานั้น ยังไม่พบเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เหมือนอย่างที่พบในประเทศจีน ทั้งนี้ อาจจะต้องมีการตรวจอย่างเฉพาะเจาะจงเพิ่มเติมต่อไป แต่ยืนยันได้ว่าในขณะนี้ ยังไม่พบเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในค้างคาวไทย

แหล่งที่มา :      http://www.nsm.or.th/other-service/1757-online-science/knowledge-inventory/sci- article/science-article-nsm/2708-

http://www.nsm.or.th/other-service/1757-online-science/knowledge-inventory/sci-article/science-article-nsm/4221-batssecret.html

https://news.thaipbs.or.th/clip/542969

https://www.thairath.co.th/news/local/1770043

views 0

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *