วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาพระนครศรีอยุธยา
ความรู้ทั่วไปบทความสุขภาพ

ไวรัสโคโรนา : ทำไมผู้ชายถึงป่วยและเสียชีวิต จากโรคโควิด-19 มากกว่าผู้หญิง

นางสาวปรางค์แก้ว แหลมสุข
นักวิชาการวิทยาศาสตร์ศึกษา

          ขณะนี้สถานการณ์ของโรคทางเดินหายใจโควิด-19 กำลังยกระดับเข้าใกล้การแพร่ระบาดใหญ่ทั่วโลกเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ไม่ได้ส่งผลกระทบกับคนทุกเพศทุกวัยอย่างเท่าเทียมกัน โดยนอกจากจะมีรายงานว่าเด็ก มีอัตราการติดเชื้อน้อยกว่าผู้ใหญ่ นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่าผู้หญิงป่วยและเสียชีวิตจากโรคนี้ ในสัดส่วนที่น้อยกว่าผู้ชายอีกด้วย ผลการวิเคราะห์ล่าสุดจากศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค (CDC) ของจีน ชี้ว่าแม้อัตราการติดเชื้อโรคโควิด-19 ระหว่างชายและหญิงจะไม่ต่างกันมากนัก แต่อัตราการเสียชีวิตนั้นทิ้งห่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีจำนวนคนไข้ชายที่เสียชีวิต 2.8% ในขณะที่คนไข้หญิงเสียชีวิต 1.7% ในการระบาดของเชื้อไวรัสก่อโรคทางเดินหายใจหลายครั้งที่ผ่านมา ผู้ชายมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าผู้หญิงมากเช่นกันทั้งจากโรคซาร์ส (SARS) และโรคเมอร์ส (MERS)

              สาเหตุที่ทำให้เป็นเช่นนี้สืบเนื่องมาจากการที่ผู้ชายเป็น เพศอ่อนแอกว่า ในเรื่องของภูมิต้านทานโรคแต่อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบชัดว่าเหตุใดผู้หญิงจึงแข็งแกร่งกว่าผู้ชาย ทั้งยังสามารถพัฒนาภูมิคุ้มกันหลังได้รับวัคซีนให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพดีกว่าด้วย มีข้อสันนิษฐานว่า ผู้หญิงมีภูมิคุ้มกันโรคสูงกว่าผู้ชาย เนื่องจากคุณสมบัตินี้จะช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับทารกแรกเกิด ซึ่งต้องรับสารแอนติบอดีต่อต้านเชื้อโรคจากน้ำนมมารดาโดยตรง ในระหว่างที่ภูมิคุ้มกันของทารกยังอ่อนแอและอยู่ในช่วงกำลังพัฒนาฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิง ยังมีบทบาทสำคัญในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันร่างกายด้วยส่วนโครโมโซม X ซึ่งเพศหญิงมีอยู่ถึงสองตัว ก็มียีนที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันอยู่จำนวนมากเช่นกันใขณะที่เพศชายมีโครโมโซม X เพียงตัวเดียวเท่านั้น

            ในการทดสอบแพร่เชื้อไวรัสโรคซาร์สให้กับหนูทดลองจำนวนหนึ่ง ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยไอโอวาของสหรัฐฯ พบว่า หนูตัวผู้ติดเชื้อได้ง่ายกว่าหนูตัวเมีย แม้ได้รับเชื้อในปริมาณน้อยกว่า โดยภูมิคุ้มกันร่างกายของหนูตัวผู้ตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมและกำจัดไวรัสได้ช้ากว่า ทำให้ล้มป่วยและเกิดความเสียหายที่ปอดรุนแรงกว่าหนูตัวเมียมาก

            พฤติกรรมการดูแลสุขภาพที่แตกต่างกันระหว่างชายและหญิงในบางวัฒนธรรม ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ผู้ชายป่วยและเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ได้ง่ายกว่า ตัวอย่างเช่นประเทศจีนนั้นมีจำนวนผู้สูบบุหรี่สูงที่สุดในโลกถึง 316 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย แต่มีเพียง 2% ของประชากรหญิงจีนทั้งหมดเท่านั้นที่มีพฤติกรรมแบบเดียวกัน นอกจากสุขภาพปอดที่ย่ำแย่แล้ว การที่ชายจีนมีภาวะความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มากกว่าผู้หญิง ยังทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเพิ่มขึ้นหากป่วยด้วยโรคโควิด-19 อีกด้วย ซึ่งจะนำไปสู่ความเสี่ยงเสียชีวิตในอัตราที่สูงกว่า

ที่มา : www. bbc.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *