ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาพระนครศรีอยุธยา
ความรู้ทั่วไปบทความสมุนไพรสุขภาพ

กัญชากับการรักษาโรค

นายเดชา พูลสวัสดิ์
นักวิชาการวิทยาศาสตร์ศึกษา

กัญชา เป็นพืชในวงศ์ Cannabidaceae มี 3 สายพันธุ์ที่พบบ่อยคือ Cannabis sativa, Cannabis indica และ Cannabis rudealis สำหรับสายพันธุ์ที่พบมากในประเทศเทศไทยจะเป็นสายพันธุ์ Cannabis sativa ซึ่งสามารถเจริญเติบโตได้ดีในลักษณะอากาศแบบร้อนชื้น

การปลูกกัญชาได้ขยายไปในประเทศเพื่อนบ้านในแถบเอเชีย และประเทศอินเดีย จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1839 (พ.ศ. 2382) นายแพทย์ชาวอังกฤษ (William O’Shaughnessy) ซึ่งขณะนั้นกำลังปฏิบัติงานอยู่ในประเทศอินเดียได้ทำการทดลอง และค้นพบว่ากัญชานั้นมีสรรพคุณทางการแพทย์ สามารถใช้ระงับอาการปวด เพิ่มความอยากอาหาร ลดการอาเจียน คลายกล้ามเนื้อ และลดอาการชักได้

ในประเทศไทยกัญชาถูกจัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 แต่ได้มีการประกาศพระราชบัญญัติยาเสพติดใหโทษฉบับใหม่ (ฉบับที่ 7)  พ.ศ. 2562 ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ซึ่งอนุญาตให้สามารถนำมาใช้ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ การแพทย์ การรักษาผู้ป่วย หรือการศึกษาวิจัยและพัฒนาการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ได้

เมื่อต้นปี พ.ศ. 2560 กระทรวงสาธารณสุขได้ออกกฎกระทรวงเรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง และได้ประกาศในราชกิจจา-นุเบกษา เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2560 โดยให้รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงสามารถอนุญาตให้มีการเพาะปลูกพืชกัญชงเพื่อสกัดเป็นยารักษาโรคในพื้นที่ที่รัฐมนตรีกำหนดได้ และในวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2561 มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนธ.) เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฉบับใหม่ (ฉบับที่ 7) และเห็นชอบให้กัญชาและกระท่อมซึ่งเป็นยาเสพติดประเภท 5 สามารถถูกนำไปศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และสามารถนำไปใช้ในการรักษาโรคภายใต้การควบคุมดูแลเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น ล่าสุดได้มีการประกาศเป็นพระราชบัญญัติ ยาเสพติดใหโทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ซึ่งสามารถนำกัญชามาใช้ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ การแพทย์ การรักษาผู้ป่วย หรือ การศึกษาวิจัยและพัฒนาการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ได้ และยังระบุไว้ว่าหากมีในครอบครองไม่เกินปริมาณจำเป็นที่ใช้รักษาโรคเฉพาะตัว พร้อมมีหนังสือรับรองการใช้งานจากผู้อนุญาต ก็จะไม่ผิดกฎหมาย แต่หากมีในครอบครองเกินปริมาณที่กำหนด จะถือว่าเป็นการผลิตหรือมีเพื่อจำหน่าย และถ้าไม่มีใบอนุญาตจำหน่ายตาม พ.ร.บ. ก็จะได้รับโทษตามกฏหมาย

การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการใช้กัญชาในการรักษาอาการและโรคต่างๆ

ลดอาการคลื่นไส้ อาเจียนจากการได้รับเคมีบำบัด (Antiemetic effect)5: สาร Nabilone และ Dronabinol เป็นสารสังเคราะห์ที่เป็นอนุพันธ์ของสาร THC ซึ่งมีผลการวิจัยทางคลินิกยืนยันว่า Nabiloneมีประสิทธิภาพในการลดอาการคลื่นไส้ อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดได้ดีกว่ายา Prochlorperazine, Domperidone และ Alizapride ที่ใช้อยู่ในขณะนั้น

เพิ่มความอยากอาหารในผู้ป่วยมะเร็งและเอดส์ (Appetite stimulation)5: ผลการวิจัยพบว่า  สาร THC สามารถช่วยเพิ่มความอยากอาหารให้ผู้ป่วยมะเร็งและเอดส์ เมื่อมีการทดลองใช้ทางคลินิกเป็นเวลา 4-6 สัปดาห์ และได้รับการอนุมัติให้ใช้สาร Dronabinol ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของสาร THC เพื่อเพิ่มความอยากอาหารได้ในประเทศแคนาดา (Marinol®; Solvay Pharmaceuticals, Inc)

ลดอาการปวด (Analgesic effect)5,6: สารในกลุ่มแคนนาบินอยด์ส่วนใหญ่โดยเฉพาะ THC สามารถใช้ลดอาการปวดแบบฉับพลัน และแบบเรื้อรัง (Acute และ Chronic pain) โดยเฉพาะการใช้เพื่อระงับการปวดแบบเรื้อรังนั้น นับเป็นสาเหตุหลักของการใช้สารสกัดกัญชาในการลดอาการปวด ได้มีการทดลองทางคลินิกและพบว่าสาร THC ในขนาด 2.5 หรือ 2.7 มิลลิกรัม สามารถช่วยลดอาการปวดเรื้อรัง (central neuropathic pain) และช่วยให้ผู้ป่วยสามารถนอนหลับได้เพิ่มขึ้น

ลดอาการปลอกประสาทเสื่อม (Multiple sclerosis, MS)5,6: MS เป็นความผิดปกติทางระบบประสาทซึ่งมักเกิดร่วมกับการหดเกร็งของกล้ามเนื้อซึ่งจะทำให้เกิดอาการปวดรุนแรงและมีอาการปวดแบบเรื้อรัง และพบว่าทั้งผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับ THC เพียงชนิดเดียว และผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับยาที่มีส่วนผสมของ THC และ CBD ในอัตราส่วน 1 ต่อ 0.5 สามารถช่วยลดอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อและช่วยบรรเทาอาการปวดดังกล่าวและช่วยให้ผู้ป่วยสามารถนอนหลับได้

ลดความดันในตาของผู้ป่วยต้อหิน (Glaucoma)5 : ต้อหินเป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมของขั้วประสาทตา ส่งผลให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นได้ เนื่องจากมีความดันในลูกตาสูง มีการศึกษาความสามารถของ สาร THC, 0.01-0.1% eye drop solution เพื่อช่วยลดความดันในลูกตาและพบว่าขนาด 0.05-0.1% THC สามารถช่วยลดความดันในลูกตาของผู้ป่วยต้อหินได้ แต่เป็นการออกฤทธิ์ในระยะสั้น 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามพบว่ายานี้ก่อให้เกิดผลอันไม่พึงประสงค์ในระหว่างใช้ ดังนั้นการพัฒนาตำรับ (Formulation) และรูปแบบการให้ (Dosage form design) อาจสามารถช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ป้องกันและรักษาอาการสมองฝ่อ (Neurodegeneration and neuroprotection)4,5 : การทดลองเพื่อศึกษาในผู้ป่วย Parkinson ในประเทศอังกฤษ โดยใช้ สารสกัดจากต้นกัญชา และ Nabilone พบว่า สารทั้ง 2 ชนิดไม่มีผลต่อการรักษาโรค Parkinson

คลายความวิตกกังวล (Antianxiety effect)5 : จากประวัติการใช้กัญชาเพื่อช่วยให้ผ่อนคลายในอดีตทำให้มีความเป็นไปได้ที่สารกลุ่มแคนนาบินอลน่าจะมีฤทธิ์คลายความวิตกกังวล แต่อย่างไรก็ตามพบว่ากลไกการออกฤทธิ์นั้นซับซ้อนและยังไม่มีการอธิบายที่ชัดเจน

การรักษามะเร็ง (Anticancer effect) : ในปีค.ศ. 1975 (พ.ศ. 2518) Munson et al. เป็นนักวิจัยกลุ่มแรกที่รายงานว่าสาร THC สามารถยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งปอดและยับยั้งการเติบโตของเนื้องอกมะเร็งในหนูทดลองได้ หลังจากนั้นได้มีการวิจัยเพิ่มขึ้นในเรื่องดังกล่าวและพบว่าสารหลายชนิดในกลุ่ม Cannabinoids (THC, CBD) และ Endocannabinoids (methanandamide, JWH-133; HU-210; WIN55, 212-2)4,7,8 สามารถต้านการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งชนิดต่าง ๆ ได้โดยการยับยั้ง Angiogenesis และลด Metastasis ในมะเร็งหลายชนิดโดยการกระตุ้นให้เกิด Program cell death และยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง กลไกอื่น ๆ ที่อาจเป็นไปได้คือ การกระตุ้นให้เกิด Cell-cycle arrest และantiangiogenic effect7,8 ปัจจุบันสารในกลุ่มนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาทางคลินิก นอกจากนี้ยังพบว่าการให้สาร Cannabinoids ร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด Temozolomide สามารถช่วยลดการเติบโตของเนื้องอกสมอง (Glioma xenograft) ได้อย่างดี และมีการรายงานในลักษณะคล้ายกันจากงานวิจัยพบว่าการให้ HU-210 สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการต้านมะเร็งของยา Paclitaxel และ ยา 5-Fluorouracil ได้ดี อีกด้วย

ข้อห้ามใช้และอาการข้างเคียง

มีคำแนะนำว่าไม่ควรใช้สารกลุ่มนี้ในผู้ที่ตั้งครรภ์ ผู้อยู่ระหว่างให้นมบุตร และผู้ป่วยจิตเวช ส่วนการ ใช้กับผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจและโรคความดันควรอยู่ในความดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ควรให้สารกลุ่มนี้ร่วมกับ ยากลุ่ม CNS depressants อาการข้างเคียงของการใช้สารกลุ่ม THC ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในการใช้ และขนาดยาที่ใช้ โดยควรเริ่มจากขนาดต่ำก่อนและถ้าจำเป็นต้องเพิ่มขนาดควรทำช้า ๆ ผู้ที่ได้รับสารกลุ่มนี้มักสามารถพัฒนาให้ร่างกายยอมรับผล psychoactive effect ของยา (tolerance) ได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงควรรักษาขนาดของยาให้คงที่โดยพิจารณาตามผลการรักษาที่ได้รับเป็นหลัก โดยอาการข้างเคียงที่พบบ่อยคือ ง่วงซึม   มึนงง ปวดศีรษะ การมองเห็นไม่ชัดเจน ปากแห้ง วิตกกังวล มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ คลื่นไส้ มีความผิดปกติของการรับรู้ อาการที่ไม่ค่อยพบเช่น เดินเซ ซึมเศร้า ท้องเสีย ความดันต่ำ หวาดระแวง และ ปวดท้อง อาเจียน (cannabis hyperemesis syndrome)

จากการศึกษาจากอดีตจนถึงปัจจุบันจะพบว่ามีสารสำคัญหลายชนิดในกลุ่ม Cannabinoids และ Endocannabinoids ถูกนำมาศึกษาเพื่อประโยชน์ในการรักษาอาการผิดปกติ และโรคหลายชนิด การค้นพบ ที่สำคัญคือการค้นพบ Endocannabinoid systems ซึ่งอาจช่วยเพิ่มความก้าวหน้าในการใช้สารกลุ่มนี้               เพื่อป้องกันและรักษาความปกติต่าง ๆ ทางสมองได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถเข้าใจกลไกการออกฤทธิ์ของสารในกลุ่มนี้ได้มากขึ้นอีกด้วย

แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากสารกลุ่มนี้ยังจัดเป็นวัตถุเสพติดในประเทศไทย แม้เพิ่งอนุญาตให้สามารถนำมาทำการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ได้ การทำการวิจัยจึงไม่แพร่หลายมากนัก กลไกการออกฤทธิ์ของสารกลุ่มนี้ในการรักษาโรคบางชนิดที่กล่าวมาแล้วนั้นถึงแม้จะมีความชัดเจนมากขึ้นแต่ยังไม่มีความครอบคลุมสำหรับทุก ๆ โรค และยังคงต้องรอผลการวิจัยเพิ่มเติมทางคลินิกให้มากกว่านี้ นอกจากนี้ข้อมูลจากการสำรวจความพร้อมของแพทย์ในการตอบปัญหาเกี่ยวกับการใช้สารสกัดกัญชาในการรักษาความผิดปกติต่าง ๆ                 ในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่ามีแพทย์ (residents และ fellows) จำนวน 89 %ที่บอกว่าตนไม่พร้อมที่จะ             ให้คำปรึกษา และเมื่อสำรวจโรงเรียนแพทย์ทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา พบว่ามีเพียง 9 % ของโรงเรียน                  ผลิตแพทย์ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่ได้บรรจุเรื่องการใช้สารสกัดกัญชาในการรักษาทางคลินิกไว้ในหลักสูตร  เพื่อสอนนักศึกษาแพทย์ ซึ่งน่าจะเป็นสถานการณ์เดียวกันกับที่พบในประเทศไทยในขณะนี้ แต่สำหรับทาง     ด้านงานศึกษาวิจัยนั้นจะพบว่ามีจำนวนงานวิจัยเพิ่มขึ้นที่ทำการวิจัยโดยใช้สารกลุ่ม Cannabinoids และ Endocannabinoids ในการรักษาโรคชนิดอื่น ๆ ที่ไม่ได้รวบรวมมาข้างต้น เช่น เบาหวาน (Diabetic)               ความดันสูง (Hypertension) จิตเภท (Schizophrenia) และ โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive compulsive disorder) ซึ่งผลการวิจัยทางคลินิกของโรคต่าง ๆ เหล่านี้ยังไม่ชัดเจน แต่จะช่วยให้เราเข้าใจกลไกการทำงานของสารในกลุ่ม Cannabinoids และ Endocannabinoids ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น รวมถึงอาจใช้ประโยชน์ทางการรักษาใด้จริงในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

กฎกระทรวง การขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ เฉพาะเฮมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๙ (พ.ศ. 2560). ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนที่ 1 ก วันที่ 6 มกราคม 2560. Available from:http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER2/DRAWER051/ GENERAL/DATA0000 /00000717.PDF [Accessed 2018 Dec 15]

พระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๖๒. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนที่ 19 ก วันที่ 18กุมภาพัธ์ 2562. Available from: http://wwwwww.ratchakitcha.soc.go.th /DATA/PDF/2562/A/019/T_0001.PDF [Accessed 2019 Feb 20]

Mechouulam, R., Hanuš, L.O., Pertwee, R., Howlett, A.C. Early phytocannabinoid chemistry to endocannabinoids and beyond. Nat. Rev. Neurol. 15 (2014): 757-764.

Velasco, G., Sánchez, C., Guzmán, M. Towards the use of cannabinoids as antitumour agents. Nat. Rev. Cancer 12 (2012): 436-444.

Alexander, S. P. H. Therapeutic potential of cannabis-related drugs. Prog. Neuro. Bio. Psych. 64 (2016): 157-166.

MacCallum, C. A. and Russo, E. B. Practical considerations in medical cannabis administration and dosing. Eur. J. Intern. Med. 49 (2018): 12-19.

Schleider, L. B., Mechoulam, R., Lederman, V., Hilou, M., Lencovsky, O., Betzalel, O., Shbiro, L., Novack, V. Prospective analysis of safety and efficacy of medical cannabis in large unselected population of patients with cancer. Eur. J. Intern. Med. 49 (2018): 37-43.

แหล่งที่มา

ดร. ภญ. ผกาทิพย์ รื่นระเริงศักดิ์

ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *