วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาพระนครศรีอยุธยา
ธรรมชาติบทความ

ปรากฏการณ์หมวกเมฆสีรุ้ง

                                                             นางสาวพิศสมัย คล้ายอุบล
          นักวิชาการวิทยาศาสตร์ศึกษา

                   เมฆที่เรามองเห็นทั่วๆไปนั่นคือกลุ่มของละอองน้ำขนาดเล็กที่เกิดจากการควบแน่นของความชื้นในอากาศ เมฆที่อยู่สูงนั้นจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง ทำให้ละลองน้ำกลายเป็นกลุ่มของน้ำแข็งขนาดเล็ก ผลึกของน้ำแข็งจะสะท้อนแสงทำให้เรามองเห็นเป็นก้อนขาวๆ ถ้ามีความหนาแน่นของละอองน้ำในก้อนเมฆมากๆ อาจจะเห็นเป็นเมฆสีเทา บางครั้งก้อนเมฆก็มีแสงสีรุ้งเกิดขึ้น บางครั้งมีลักษณะเป็นหมวกอยู่ด้านบนก้อนเมฆ

                   หมวกเมฆ หรือ Pileus มีลักษณะเป็นเมฆบางๆ ที่ลอยอยู่เหนือเมฆก้อนขนาดใหญ่ เช่น เมฆคิวมูโลนิมบัส คอนเจสทัส (Cumulonimbus Congestus) หรือเมฆฝนฟ้าคะนองที่เริ่มก่อตัวใหม่ๆ ในขณะที่ก้อนเมฆขนาดใหญ่ดังกล่าวนี้กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็จะทำให้อากาศที่อยู่เหนือยอดเมฆก้อนถูกผลัก ให้พุ่งสูงขึ้นไปด้วย หากอากาศที่ถูกผลักขึ้นไปนี้มีความชื้นเพียงพอและมีอุณหภูมิลดต่ำลงจนถึงจุดน้ำค้าง (Dew Point) ไอน้ำในอากาศก็จะควบแน่นกลายเป็นหยดน้ำขนาดเล็กๆ จำนวนมาก และเมื่อมองโดยรวม จะมีลักษณะเหมือน หมวกเมฆ นั่นเอง

                   เมฆสีรุ้ง เรียกว่า Iridescence เกิดจากที่แสงอาทิตย์สีขาวไปตกกระทบ กับเม็ดน้ำขนาดต่างๆ ที่อยู่เหนือยอดเมฆ เมื่อแสงตกกระทบหยดน้ำ จึงทำให้เกิดการหักเหเปลี่ยนทิศทางไปจากแนวเดิม แต่แสงสีต่างๆหักเหได้ไม่เท่ากัน ทำให้แสงสีขาวแตกออกเป็นสีรุ้ง และเนื่องจากในเมฆจางๆ จะมีเม็ดน้ำขนาดต่างๆ ไม่เท่ากัน   ทำให้สีรุ้งสีหนึ่ง (เช่น สีเขียว) ที่หักเหออกจากเม็ดน้ำขนาดหนึ่งๆ ซ้อนทับกับสีรุ้งอีกสีหนึ่ง (เช่น สีเหลือง)   ที่มาจากเม็ดน้ำอีกขนาดหนึ่ง จึงทำให้มองเห็นสีรุ้งมีลักษณะเหลือบซ้อนทับกันอย่างสลับซับซ้อน บางครั้งคล้าย     สีรุ้งบนผิวไข่มุก บางทีก็ซ้อนกันเป็นชั้นๆ ปรากฏการณ์สีรุ้งอาจเกิดในเมฆจางๆ บนท้องฟ้า โดยที่ไม่ต้องมีเมฆก้อนใหญ่ (อย่างเมฆฝนฟ้าคะนอง) มาเกี่ยวข้องด้วยก็ได้ แต่ที่พบบ่อยคือ สีรุ้งที่อยู่เหนือเมฆก้อนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงเวลาเย็นที่ดวงอาทิตย์กำลังลับขอบฟ้า

แหล่งที่มา : ออนไลน์.

http://www.narit.or.th/index.php/nso-astro-photo/nso-atmosphere-phenomenon/866-iridescent-pileus

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *