ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาพระนครศรีอยุธยา
ธรรมชาติบทความ

เพชรแร่รัตนชาติ

 นางสาวรัชดาภรณ์ ป้องชาลี
 นักวิชาการวิทยาศาสตร์ศึกษา

               แร่รัตนชาติคืออะไร รัตนชาติคือ แร่หรือหินหรืออินทรียวัตถุธรรมชาติที่นำมาใช้เป็นเครื่องประดับ สมบัติที่สำคัญของรัตนชาติ คือ มีความสวยงาม ทนทาน มีความแข็งคงทนต่อการถูกขูดขีดและหาได้ยากหมายความว่า แร่รัตนชาติมิได้มีเหมือนกันทุกประเทศ บางประเทศมีเพชรมาก เช่น แอฟริกาใต้ ประเทศไทยและพม่า มีทับทิมที่มีคุณภาพดี สีสวย เป็นที่รู้จักดีทั่วโลก ประเทศออสเตรเลีย มีโอปอที่มีค่าสูง และสวยงาม ประเทศจีน มีหยก ประเทศญี่ปุ่น มีไข่มุก ฯลฯ ความสวยงามของอัญมณีอยู่ที่สี ประกายแวววาว และความใสสะอาด ซึ่งเป็นผลจากการเจียระไนประกอบกัน ทำให้คุณสมบัติดังกล่าวเด่นชัดขึ้น คุณสมบัตินี้เป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวเพชรพลอยแต่ละชนิด มีมาตั้งแต่เกิดเองตามธรรมชาติ เพชรพลอยชนิดเดียวกัน หรือต่างชนิดก็ตาม อาจมีสีอ่อนแก่ มีความใสหรือขุ่นมัว

          รัตนชาติที่ผ่านการเจียระไนแล้ว เรียกว่าอัญมณี รัตนชาติแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ

          1. เพชร (Diamonds) ทั้งชนิดใสไม่มีสี และชนิดที่มีสีต่างๆ
         2. พลอย (Colored stones) หมายถึง อัญมณี ต่างๆ เช่น ทับทิม ไพลิน มรกต ควอตซ์ หยก ฯลฯ

แต่ไม่รวมถึงเพชร นอกจากนี้ยังมีรัตนชาติบางชนิดที่เกิดจากสิ่งมีชีวิต เช่น ไข่มุก ปะการัง และอำพัน เพชรพลอยเป็น แร่รัตนชาติ การค้นหาจึงต้องมีการศึกษาถึงกำเนิดความเป็นมาของเพชรและพลอยแต่ละชนิดว่า เกิดกับหินชนิดหรือประเภทใด หรืออาจกล่าวว่า หินชนิดใด จะเป็นต้นกำเนิดเพชรหรือพลอยเหล่านั้น ในสมัยโบราณอาจเป็นการพบเพชรพลอยก่อนแล้ว มีการศึกษาค้นคว้าวิจัยถึงแหล่งเพชร พลอยเหล่านั้น มีการบันทึกข้อมูลไว้ ซึ่งได้เป็นประโยชน์ในสมัยต่อมา โดยเป็นเครื่องชี้นำ หรือเป็นแนวทางในการสำรวจค้นหาแหล่งใหม่ต่อไป เพชร (Diamond) กำเนิดจากแร่หินที่ธรรมชาติสร้างขึ้น เพชร คือผลึกที่บริสุทธิ์ของคาร์บอน (Carbon) ซึ่งเป็นธาตุที่เรารู้จักกันมากที่สุดธาตุหนึ่งในเชิงเคมี เพชรจะเกิดฝังในหินคิมเบอร์ไลต์ (Kimberlite) แต่จากการสำรวจหินคิมเบอร์ไลต์บนพื้นผิวโลกประมาณ 5,000 กว่าแหล่ง พบชนิดที่เป็นต้นกำเนิดให้เพชรมีเพียง 500-600 แหล่งเท่านั้น ลักษณะหินอัคนีชนิดนี้ ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นปล่อง (Pipe) หรือเป็นท่อวงรี ๆ คล้ายปล่องภูเขาไฟดันแทรกหินชั้นหรือหินเดิมชนิดต่างๆ ขึ้นมาด้วยความดันอย่างสูงมากจึงทำให้ธาตุคาร์บอนหลอมเป็นเพชร ฝังอยู่ในเนื้อหินที่เกิดลักษณะเป็นพนัง (Dyke) ก็เคยปรากฏเห็นอยู่บ้างเช่นกันจุดกำเนิดของหินคิมเบอร์ไลต์ เชื่อกันว่าจะเกิดในระยะที่ลึกมากคือไม่ต่ำกว่า 40 กิโลเมตรลงไปจากพื้นผิวโลกปัจจุบัน เพชรเป็นแร่มีรูปร่างผลึก 8 เหลี่ยม หรือ 12 เหลี่ยม มีความโปร่งใส และกึ่งโปรงใส มีประกายแวววาว รอยตำหนิมีเหลี่ยมมุมถาวร ไม่เปลี่ยนแปลง เพชรมีหลายสี ตั้งแต่ไม่มีสี จนกระทั่งถึงสีดำ ที่เรียกว่าCarbonado สีต่างๆ ที่เกิดขึ้นเกิดจากมลทินในผลึก ส่วนใหญ่จะพบไนโตรเจน ซึ่งจะพบอยู่ถึงร้อยละ 0.2 และยังพบซิลิกอน แมกนีเซียม อะลูมิเนียม เหล็ก แคลเซียม ทองแดง ซึ่งมีอยู่ในปริมาณที่น้อยมาก เพชรที่พบอยู่โดยทั่วไปจะมีสี เหลือง หรือน้ำตาลอ่อน เพชรที่ใสไม่มีสี จะมีราคาสูงที่สุดและเป็นที่นิยม แต่เพชรมีสีนั้นค่อนข้างหายาก เช่น สีชมพู หรือสีน้ำเงิน เช่น Hope Diamond เป็นเพชรที่มีสีฟ้า มีชื่อเสียงมาก และชนิดที่หายากที่สุดคือ Red Diamond นอกเหนือจากนี้ เสน่ห์อันซับซ้อนที่ดึงดูดใจ ให้ใครหลายคนหลงใหล ยังเกิดได้ด้วยวิธีการ อันซับซ้อน ของธรรมชาติ ที่ฝังตัวเป็นรูปร่างต่างๆ อยู่ตามแหล่ง ของมัน และจะพัฒนาเปลี่ยนแปลง รูปต่าง ตามกาลเวลาที่ผ่านไป อัญมณีส่วนใหญ่แสดงความงดงาม ออกมาเพียงเล็กน้อย แต่การจะทำให้ มันแสดงสีสันสดใสที่แท้จริง เราจำเป็นต้องนำมาเจียระไน และขัดให้เป็นเงาเสียก่อน ดังเช่นความงดงามของเพชร ที่จะงามได้ก็ต่อเมื่อ นำมาเจียระไนอย่างถูกเหลี่ยม และได้ขนาดกับสัดส่วนที่เหมาะสมเมื่อเราสวมใส่

แหล่งที่มา

https://www.scimath.org/article-science/item/9587-2018-12-13-07-50-16

กรมทรัพยากรธรณี. เพชร Diamond. สืบค้นเมื่อ 4 เมษายน 2562. จาก http://www.dmr.go.th/main.php?filename=diamond5

views 1

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *