วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Latest:
ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาพระนครศรีอยุธยา
ความรู้ทั่วไปธรรมชาติบทความ

เชื้อเพลิงจิ๋ว

นางสาว ปรางค์แก้ว แหลมสุข
ตำแหน่ง นักวิชาการวิทยาศาสตร์ศึกษา

            มนุษย์นำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้เป็นแหล่งพลังงานเพื่อตอบสนองกิจกรรมรูปแบบต่าง ๆ มาช้านาน โดยเฉพาะพลังงานในการผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับการดำรงชีวิต ไฟฟ้าที่ใช้ในทุกวันนี้อาจผลิตมาจากพลังงานที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงธรรมชาติในรูปแบบต่างๆ เช่น ไม้ ปิโตรเลี่ยม ถ่านหิน แก๊สธรรมชาติ ซึ่งในแต่ละวันเชื้อเพลิงธรรมชาติเหล่านี้ กำลังถูกใช้ไปอย่างมากจนเกือบจะหมดไปต้องใช้ระยะเวลานานในการสะสมเชื้อเพลิงในธรรมชาติ

            นอกจากนี้กระบวนการเผาไหม้เชื้อเพลิงยังทำให้เกิดแก๊สชนิดต่าง ๆ สู่บรรยากาศซึ่งส่งผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อมแหล่งพลังงานที่หาได้ง่าย และใช้ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดเริ่มจะหมดไป มนุษย์จึงหันมามองหา หรือคิดค้นพลังงานทดแทน หรือพลังงานทางเลือกชนิดใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการทางด้านพลังงานที่มีมากขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจ และการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก ตัวอย่างพลังงานทดแทน ที่เริ่มมีการพัฒนากันขึ้นมาตั้งแต่ในอดีต และปัจจุบันมีการใช้กันอยู่ในหลายๆ ประเทศ เช่น พลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานจากกระแสลม พลังงานจากเขื่อน พลังงานจากการขึ้นลงของน้ำ รวมทั้งพลังงานชีวภาพ ที่ได้จากสิ่งมีชีวิต เช่น ไบโอดีเซลที่สกัดจากพืชให้น้ำมันชนิดต่าง ๆ การนำจุลินทรีย์มาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวันนั้นยังต้องอาศัยเวลาพัฒนาอีกระยะ

            พลังงานชีวภาพดูเหมือนกำลังเป็นที่สนใจของสังคมโลก เนื่องจากเชื่อกันว่าเป็นพลังงานที่สามารถผลิตได้ง่ายจากซากพืชซากสัตว์หรือเศษวัสดุต่างๆ และยังถือเป็นพลังงานที่สะอาด นอกจากไบโอดีเซล เอทานอล และมีเทนแล้ว ยังมีพลังงานชีวภาพในรูปแบบอื่นที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก นั่นคือ การนำจุลินทรีย์มาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าโดยตรง เรียกว่า “เชื้อเพลิงจุลินทรีย์”

          นักวิทยาศาสตร์ทราบมานานแล้วว่าจุลินทรีย์ โดยเฉพาะแบคทีเรียหลายชนิดสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ แต่ปริมาณที่ได้นั้นมีน้อยมากจนไม่น่าจะนำมาใช้ประโยชน์ได้อีกทั้งในอดีตแหล่งพลังงาน เช่น ไม้ ปิโตรเลียม หรือถ่านหิน หาได้ง่าย มีปริมาณมาก ราคาถูก และไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานจากจุลินทรีย์จึงไม่ได้รับความสนใจ แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปแนวคิดของการนำจุลินทรีย์มาผลิตกระแสไฟฟ้าจึงได้รับความสนใจอีกครั้งในอนาคตเทคโนโลยีอาจพัฒนาไปเป็นส่วนหนึ่งของพลังงานที่ใช้ในอวกาศซึ่งจุลินทรีย์นั้น มีข้อได้เปรียบพลังงานจากแสงอาทิตย์ตรงที่สามารถผลิตได้กระแสไฟฟ้าในขณะที่ไม่มีแสงอาทิตย์โดยอาจใช้สิ่งปฏิกูล จากมนุษย์เป็นแหล่งอาหารของจุลินทรีย์เพื่อผลิต เป็นกระแสไฟฟ้าในขณะเดียวกันแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่ออกมาสามารถเปลี่ยนเป็นแก๊สออกซิเจน โดยสาหร่ายขนาดเล็ก หรือไซยาโนแบคทีเรียที่สร้างอาหารเองได้จากกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงเทคโนโลยีมีการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งในไม่ช้าเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบพกพาต่างๆ ที่ใช้แบตเตอรี่เป็นตัวประจุไฟฟ้าและให้พลังงานอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ที่ให้พลังงานไฟฟ้าโดยจุลินทรีย์ ซึ่งต้องการเพียงแค่น้ำตาลก้อนเล็กๆ เอาไว้ใส่ในคอมพิวเตอร์พกพา หรือโทรศัพท์มือถือก็อาจเป็นไปได้

แหล่งที่มา : https://www.bbc.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *