วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาพระนครศรีอยุธยา
บทความสุขภาพ

น้ำตาลก่อโทษ งั้นเลิกบริโภคเลยดีไหมหรือเพียงแค่ลด

พนิตานันท์ สุวรรณบลนุกูล
นักวิชาการวิทยาศาสตร์ศึกษา

น้ำตาลที่กล่าวถึงในที่นี้คือน้ำตาลที่เติมลงในอาหาร (Added sugar) ในรูปน้ำตาลเกล็ดที่เรียกกันว่าน้ำตาลทราย (Table sugar) และไซรัปฟรุคโตสหรือไซรัปข้าวโพดฟรุคโตสสูง (High Fructose Corn Syrup หรือ HFCS) ซึ่งเป็นน้ำตาลเหลว น้ำตาลทั้งสองกลุ่มนี้พบมากในอาหารสารพัดชนิด ทั้งขนมขบเคี้ยว น้ำอัดลม น้ำหวาน ชาหวาน รวมทั้งขนมไทย ขนมฝรั่ง เค้ก คุ้กกี้และอีกมากมาย รวมถึงอาหารคาวที่ปรุงกันทั่วไป ซึ่งนิยมเติมน้ำตาลเพื่อแต่งรสชาติ น้ำตาลทั้งสองประเภทนี้คือสาเหตุใหญ่ที่ก่อให้เกิดโรคอ้วน เบาหวานและอีกหลายโรค เมื่อเป็นเช่นนั้น “ควรงด” นั่นคือเลิกเติมน้ำตาลในอาหารอย่างเด็ดขาดหรือ “ควรลด” หมายถึงยังคงบริโภคได้แต่ลดปริมาณลงให้ได้มากที่สุดเท่านั้น ข้อแนะนำให้ลดการบริโภคน้ำตาลเกิดขึ้นใน ค.ศ.1992 เมื่อกระทรวงเกษตร สหรัฐอเมริกา จัดทำปิรามิดโภชนาการ โดยแนะนำให้ลดการบริโภคน้ำตาลลง ต่อมาองค์การอนามัยโลกแนะนำว่าควรบริโภคคาร์โบไฮเดรตไม่เกิน 55-60% ของพลังงานที่ได้รับต่อวัน จำนวนนี้ให้เป็นน้ำตาลที่เติมในอาหารไม่เกิน 10% คำแนะนำนี้ ใน ค.ศ. 2013 ศาสตราจารย์เวย์น พอตส์ (Wayne Potts) ออกมาคัดค้านโดยระบุว่า 10% สำหรับน้ำตาลนั้นยังสูงเกินไป เนื่องจากพบว่าหนูทดลองที่ได้รับอาหารที่มีน้ำตาล 10% ของพลังงานทั้งหมดมีอายุสั้น เมื่อโดนนักวิจัยหลายกลุ่มคัดค้านหนักเข้า ข้อแนะนำใหม่จึงลดการบริโภคน้ำตาลเหลือ 5% มาถึงวันนี้ทุกฝ่ายตั้งแต่นักโภชนาการ แพทย์ นักวิจัยทางการแพทย์ ต่างให้ข้อสรุปตรงกันว่า น้ำตาลที่เติมในอาหารหรือน้ำตาลจากอุตสาหกรรม ได้แก่ น้ำตาลทรายและไซรัปฟรุคโตสนั้น ก่อปัญหาต่อสุขภาพจึงไม่แนะนำให้บริโภค คนจำนวนหนึ่งจึงเปลี่ยนเป็นการใช้น้ำตาลเทียมแทน งานวิจัยพักหลังๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลัง ค.ศ.2013 ให้ข้อสรุปตรงกันว่าการใช้น้ำตาลเทียมก่อปัญหา ต่อสุขภาพได้เช่นกัน เป็นต้นว่ารบกวนการทำงานของแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ ก่อปัญหาโรคอ้วนและเบาหวานไม่ต่างจากน้ำตาลแท้สักเท่าไหร่ แม้ทุกฝ่ายยอมรับกันว่าน้ำตาลที่เติมลงในอาหารสร้างปัญหาต่อสุขภาพ ทว่านักวิชาการบางส่วนยังเห็นว่าน้ำตาลช่วยปรุงแต่งรสอาหารทำให้ผู้กินเกิดความรู้สึกพึงพอใจ ความสุขเล็กๆน้อยๆเช่นนี้ช่วยสุขภาพจิตให้ดีขึ้น ทั้งน้ำตาลยังให้พลังงานได้รวดเร็วซึ่งจำเป็นสำหรับร่างกายในบางภาวะจึงแนะนำให้ลดน้ำตาลลงไม่ใช่ให้งดเด็ดขาด นักวิชาการจากสมาคมหัวใจอเมริกันหรือ AHA แนะนำให้ผู้หญิงบริโภคน้ำตาลได้ไม่เกิน 100 กิโลแคลอรีต่อวัน หรือ 6 ช้อนชา ส่วนผู้ชายบริโภคได้ไม่เกิน 150 กิโลแคลอรีต่อวัน หรือไม่เกิน 9 ช้อนชา หมายความว่าไม่ควรได้รับน้ำตาลเกิน 5% ของพลังงานที่ได้รับต่อวัน การแนะนำลักษณะนี้ถือว่ายืดหยุ่นที่สุดแล้ว

ที่มา : ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2560). น้ำตาลก่อโทษ งั้นเลิกบริโภคเลยดีไหมหรือเพียงแค่ลด. สืบค้นเมื่อ 8 กรกฎาคม 2562, จาก http://www.halalscience.org/archives/72913

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *