วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาพระนครศรีอยุธยา
บทความสุขภาพ

อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจโฟม

อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจโฟม

พนิตานันท์ สุวรรณบลนุกูล
นักวิชาการวิทยาศาสตร์ศึกษา

หากมีการสำรวจพฤติกรรมของคนยุคนี้ด้วยคำถามว่า “เคยทานอาหารที่บรรจุในกล่องโฟม หรือถ้วยโฟม กันไหมคะ?” เชื่อว่าในร้อยคน จะมีผู้ตอบว่า เคยกินเกินครึ่งแน่ ๆ และเผลอๆอาจเกือบทั้งหมดเลยด้วยซ้ำ เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเจ้าภาชนะที่ทำจากโฟมนี้มีอิทธิพลกับมนุษย์ยุคเรากันมากจริง ๆ

อาจเพราะผู้ประกอบธุรกิจอาหารในยุคปัจจุบัน เห็นว่าภาชนะบรรจุอาหารที่ทำจากโฟมนั้นราคาไม่สูง สะดวกในการซื้อหา น้ำหนักเบา ใช้แล้วทิ้งได้เลย ไม่ต้องตามกลับมาล้างให้วุ่นวาย จึงเป็นที่นิยมแพร่หลายตั้งแต่แผงลอย รถเข็น ร้านอาหาร ไปถึงตามนิทรรศการ งานแฟร์ต่างๆ ทั้งในรูปของจาน กล่อง ถ้วยกาแฟโฟม กระทั่งถาดโฟมใส่เนื้อในซุปเปอร์มาร์เก็ต

ด้วยการขาดความรู้หรือข้อมูลด้านความปลอดภัยของอาหารที่ไม่ดีพอของผู้ประกอบการ แม่ค้าพ่อค้าขายอาหารและผู้บริโภคในบ้านเรา จึงทำให้ภาชนะโฟมถูกนำมาใช้บรรจุอาหารผิดประเภท และมีความเสี่ยงสูงในการเกิดพิษสะสมในร่างกายของผู้บริโภค โดยปกติแล้วกล่องโฟม ถ้วยโฟมประเภทนี้ ส่วนใหญ่จะทำมาจากพลาสติกชนิดที่มีชื่อว่า โพลีสไตรีน โฟม (Polystyrene Foam หรือ PS foam หรือ Styrofoam) ค่ะ ซึ่งเป็นสารโพลิเมอร์ (polymer) จำพวกหนึ่ง กรรมวิธีผลิตก็คือ เอา PS foam นั้นไปผ่านการให้ความร้อนด้วยไอน้ำ จากนั้นจะถูกนำไปรีดให้เป็นแผ่น เรียกว่า แผ่นโพลิ-สไตรีน โฟม (Polystyrene Paper Foam หรือย่อว่า PSP) ก่อนที่จะนำไปขึ้นรูปเป็นภาชนะบรรจุอาหารรูปร่างต่างๆ ตามต้องการ อย่างที่เราเห็นๆ และใช้กันอย่างหลากหลายในท้องตลาดอยู่ทุกวันนี้ นอกจากนี้การใช้กล่องโฟมยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากโฟมเป็นขยะที่มีความคงทนและทนต่อแรงอัดได้สูง กระบวนการกำจัดที่ปลอดภัยคือการเผาโฟมภายใต้การควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสมอย่างระมัดระวัง การกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบดินต้องใช้เวลาในการย่อยสลายนานถึง 1,000 ปี ผลที่ตามมาคือปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม และภาวะโลกร้อน ขณะที่ปัจจุบันคนไทยสร้างขยะจากกล่องโฟมเฉลี่ย 2.3 กล่องต่อวันต่อคน ซึ่งหมายถึงในแต่ละวันจะมีกล่องโฟมที่ถูกทิ้งให้เป็นขยะรวมกัน ไม่น้อยกว่า 138 ล้านกล่อง

ถ้าถามว่า มีอาหารประเภทไหนที่นำไปบรรจุในภาชนะโฟม แล้วจะเกิดอันตรายบ้าง?
คำตอบคือ หากใช้บรรจุอาหารที่มีอุณหภูมิสูง หรือที่เรียกง่ายๆว่า อาหารร้อนๆ รวมทั้งอาหารที่มีไขมันหรือแอลกอฮอล์ จะทำให้เกิดการปลดปล่อยสารสไตรีน (styrene) ออกมา ซึ่งสารนี้เป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่ง ในร่างกายมนุษย์และสัตว์ ออกมาปะปนกับอาหารที่เราทาน โดยที่เรามองไม่เห็น และไม่รู้ตัว ซึ่งปริมาณ ของสารสไตรีนที่หลุดออกมาปะปนในอาหาร จะขึ้นกับสามปัจจัยหลักได้แก่ 1.อุณหภูมิของอาหารที่บรรจุ 2.ปริมาณไขมันในอาหาร และ 3.ระยะเวลาที่ภาชนะโฟมสัมผัสอาหาร หลักการคือ สารดังกล่าวจะละลายได้ดีในน้ำมันและแอลกอฮอล์ ดังนั้นเมื่อใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหารที่มันๆทั้งหลาย ยิ่งถ้าเป็นของปรุงใหม่ๆร้อนๆ แล้วมีการตักหรือบรรจุ ทิ้งให้อาหารสัมผัสกับภาชนะโฟมเป็นเวลานานด้วยแล้ว ยิ่งมีการปลดปล่อยสาร สไตรีนออกมาสู่อาหารได้มากขึ้นไม่แต่เฉพาะของร้อน แม้แต่อาหารที่เป็นของแข็งที่มีไขมันสูง เช่น เนื้อสัตว์ ติดมัน หรือ เนยแข็งที่บรรจุอยู่ในถาดโฟมในซุปเปอร์มาร์เก็ตเอง ก็ถูกปนเปื้อนด้วยสารสไตรีนจากถาดโฟม ที่บรรจุอยู่ได้เช่นเดียวกันไม่เพียงแค่ต้องระวังการใช้โฟมกับอาหารเท่านั้นนะคะ เนื่องจากส่วนผสมบางอย่าง ในเครื่องดื่ม เช่น แอลกอฮอล์ หรือกรดในชามะนาวเอง ก็มีผลให้การละลายของสารสไตรีนลงสู่อาหารที่บรรจุอยู่ได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน ทราบข้อมูลกันแบบนี้แล้ว คงไม่แปลกใจว่าทำไมคนยุคเราถึงมีอัตราการป่วยเป็นมะเร็งกันมาก เพราะมีความเสี่ยงอยู่ใกล้ตัว และรอบตัวแบบนี้เอง จึงขอแนะนำให้ทุกท่านหลีกเลี่ยงเสียตั้งแต่วันนี้ เพื่อชีวิตที่ยืนยาวและสุขภาพดีของท่านเอง

เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว ผู้บริโภคควรใส่ใจและตระหนักถึงอันตรายจากกล่องโฟม โดยหลีกเลี่ยงการใช้กล่องโฟมบรรจุอาหาร หรือใช้ภาชนะทดแทนที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ปิ่นโต บรรจุภัณฑ์ชานอ้อย หรือไบโอโฟมซึ่งทำจากวัสดุธรรมชาติและย่อยสลายได้ รวมทั้งการใช้วัสดุธรรมชาติดั้งเดิม เช่น ใบตอง ใบบัว สำหรับห่อข้าวห่อขนม ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้าย และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมของเราด้วย อย่าลืมนะคะว่า You are what you eat ทานอะไรก็จะส่งผลให้ร่ายกาย เจ็บป่วยได้ตามของที่เราทานกันนั่นแหละคะ ด้วยความเป็นห่วงนะคะ พบกันทุกสิ้นเดือน ในสาระดีๆกับศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาพระนครศรีอยุธยาคะ

อ้างอิง : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ข้อมูลบางส่วนอ้างอิงมาจากเว็บไซต์ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
www.krobkruakao.com และ www.thaiemsinfo.com ศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านการแพทย์ฉุกเฉินไทย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *